svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แรงงานเปรื่องปัญญา คืออนาคตของการพัฒนาชาติ... เราเดินช้าต่อไปไม่ได้แล้ว!!!

28 กุมภาพันธ์ 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบมีอัตราเร่งของสิ่งแวดล้อม การปฏิวัติทางข้อมูลข่าวสารประกอบกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต ทำให้ความรู้ต่างๆ ทุกแขนงเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในทุกสองหรือสามปี จึงทำให้องค์กรต้องมีความสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในอนาคตต่อไปประมาณ 1-2 ปี โลกยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงของปริมาณความรู้ด้วยอัตราเร่งที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว

จากหนังสือ ITS ALIVE ของ Christopher Meyer เป็นหนังสือเก่ากว่า 10 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นหนังสือที่ผู้เขียนบทความชอบมากที่สุดเล่มหนึ่ง กล่าวไว้ว่า "Every enterprise either adapts to its environment, or dies" นั่นคือ ท่านจะยอมปรับเปลี่ยนตัวเอง หรือท่านจะยอมตายจากไปกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นความจริงแล้วในปัจจุบัน เพราะเห็นได้ชัดว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมทุกอุตสาหกรรมเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างอย่างพลิกผัน (Disruption) และนับจากเวลานึ้ไปการพลิกผันจะเกิดขึ้นด้วยอัตราเร่ง เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และดิจิทัลที่ก้าวกระโดด จนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์และการบริการในหลายธุรกิจล้มหายตายจาก โดยมีการเปลี่ยนรูปแบบไป และจะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากมายเช่นเดียวกัน

ความรู้ และเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยที่เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและการบริการ ดังนั้น ความรู้และปัญญาจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการแข่งขันมากกว่าแรงงานแล้วในยุคนี้ และเทคโนโลยีจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการแข่งขันไม่แพ้กับการที่มีทรัพยากรธรรมชาติ จึงทำให้ช่วงเวลาสองถึงสามปีที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านจะเห็นว่ามีการผลิตหนังสือด้านการบริหารและการจัดการที่พูดถึง Knowledge Workers กันมากเหลือเกิน ซึ่งผู้อ่านอาจจะพบในหนังสือบางเล่มที่ใช้ในภาษาไทยว่า "แรงงานเปรื่องปัญญา" นั่นเอง

ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ต้องพึ่งพา Knowledge Workers เป็นอย่างมาก ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่มีความรู้เฉพาะทาง และมีประสบการณ์ เช่น นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และวิศวกร เป็นต้น แต่กลุ่มที่มีความต้องการสูงในขณะนี้คือ Knowledge Workers ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลประยุกต์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งเราอาจเรียกเป็นภาษาไทยว่า "นักเทคโนโลยีเปรื่องปัญญา" ดังนั้น พวกเขาจึงได้รับค่าจ้างสูงกว่าแรงงานที่มีทักษะแบบดั้งเดิม

ในช่วงศตวรรษที่ 20 แรงงานที่ไร้ทักษะในโรงงานอุตสาหกรรมเคยเป็นพลังอันสำคัญยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง แต่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นช่วงเวลานับจากนี้ นักเทคโนโลยีเปรื่องปัญญา จะกลายเป็นพลังสำคัญ ทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เพราะรูปแบบการผลิตของโรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ จะใช้แรงงานมนุษย์น้อยลงมาก แต่จะใช้เทคโนโลยีมาแทนตำแหน่งแรงงานมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ

ความรู้เป็นสิ่งที่ล้าสมัยได้อย่างรวดเร็วมาก ซึ่งจะเห็นได้จากเทคโนโลยีที่เคยมีใน 10 ปีที่แล้วเช่น ฟิล์ม, เทปคาสเซ็ท, CD เป็นต้น ได้ล้มหายตายจากไปต่อหน้าต่อตา ซึ่งมีการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบที่แสดงให้เห็นว่า ความรู้มีการเพิ่มพูนแบบอัตราเร่ง โดยในปัจจุบัน ความรู้จะเพิ่มพูนขึ้นมากกว่า 100% ในทุกๆ 6 เดือน นั่นคือ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ Knowledge Workers จะต้องขวนขวายหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา จึงส่งผลให้รูปแบบใหม่ของการศึกษาต่อเนื่อง จะเน้นการเพิ่มพูนความรู้ในวิชาชีพเฉพาะในด้านต่างๆ ให้แก่ Knowledge Workers โดยการศึกษาต่อเนื่องจะเป็นธุรกิจที่เติบโตมาเป็นอันดับหนึ่งภายในเวลาอีก 10 ถึง 20 ปีข้างหน้า แต่ในเวลาอีก 5 ปีต่อจากนี้ไป เราจะเริ่มเห็นมีการสอนหลักสูตรสำหรับ Knowledge Workers และนักบริหารระดับสูงในรูปแบบ workshop ระยะสั้น เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่มีเวลาที่จะเข้าศึกษาในระบบแบบมีห้องเรียนปกติอีกต่อไปแล้ว

การศึกษาในยุคเศรษฐกิจแห่งองค์ความรู้จะมีราคาแพงขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาลดลง การปฏิวัติดิจิทัลจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่กับระบบและรูปแบบการศึกษาในมหาวิทยาลัย และจะยิ่งส่งผลกระทบมากกว่าต่อการศึกษาต่อเนื่องของ Knowledge Workers แบบที่เรียกว่า Anywhere Anytime

Knowledge Workers ด้านเทคโนโลยีจะเป็นกลุ่มคนที่ทุกองค์กรและทุกประเทศต้องการอย่างยิ่ง โดย Knowledge Workers ต้องเคลื่อนย้ายเพื่อทำงานในหลายๆ Project ตลอดเวลาเพราะระบบสื่อสารเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากทำให้การติดต่อสื่อสารง่ายขึ้น อัตราการเปลี่ยนงานก็จะสูงขึ้น อาจเป็นการย้ายไปทำงานในบริษัทแห่งใหม่ หรือข้ามไปทำงานในประเทศอื่น ดังนั้น คนที่เก่งที่สุด และทะเยอทะยานที่สุดจึงต้องจากไปจากองค์กร ไปในที่ๆ ให้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าแก่พวกเขา และอาจเคลื่อนย้ายออกจากประเทศไป

สำหรับสาขาวิชาที่มีแนวโน้มที่จะเป็นที่ต้องการของทุกประเทศภายใน 10 ปีนี้ เนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น โลกกำลังก้าวไปสู้สังคมผู้สูงอายุ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่เริ่มเข้าไปหลอมรวมกับเทคโนโลยีชีวภาพ จึงทำให้สาขาวิชาที่น่าจะมีอิทธิพลสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 มีดังนี้
(1) ด้าน Healthcare และการแพทย์ทุกแขนง
(2) ด้านการพัฒนา software
(3) ด้านวิศวกรรมและการจัดการเครือข่ายดิจิทัล
(4) ด้านวิศวกรรมและการจัดการด้านการเงิน
(5) ด้านวิเคราะห์และสังเคราะห์ชั้นสูงด้วย AI
(6) ด้านวิศวกรรมชีวภาพ (Biotech)
(7) ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
(8) ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์
(9) ด้านการบริหารจัดการนวัตกรรมเฉพาะด้าน
ในยุค Digital Economy ความรู้ และเทคโนโลยีจะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด การที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่ประเทศนั้นจะต้องมุ่งเน้นในการเพิ่มความรู้ หรือทุนทางปัญญา (Knowledge capital) ให้แก่ประชากรของประเทศเสียก่อน

กรณีศึกษาจากหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ มักจะพบว่ารากเหง้าของความสำเร็จมักเกิดจากระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ดังนั้น ปัญหาที่ผู้นำทุกประเทศต้องค้นหาคำตอบให้ได้คือ "เรากำลังผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อทำงานในปี 2025 หรือเพื่อทำงานในปี 2017" ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง???

ดังนั้น หน้าที่ของเราที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ การพัฒนาระบบการศึกษาที่ทันสมัยสอดคล้องต่อทิศทางของโลก และต้องดึงดูดคนเก่งเอาไว้ ถ้าเราไม่ให้ความสนใจที่จะดึงคนเก่งเหล่านี้เอาไว้ อีกทั้งไม่ให้การศึกษาที่ดีพอต่อประชากรของประเทศ เศรษฐกิจก็จะย่อยยับแบบก้าวกระโดดเช่นกัน

Reference
[1] Christopher Meyer, It's Alive: The Coming Convergence of Information, Biology, and Business, October 2003.
[2] https://en.m.wikipedia.org/wiki/Knowledge_worker
------------------
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
www.เศรษฐพงค์.com-------------------LINE id : @march4g

logoline