svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คนไทยน้ำดื่มต่ำมาตรฐาน ป่วย 1 ล้าน/ปี

22 มีนาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มในครัวเรือนไทย ล่าสุดผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงร้อยละ 33 โดยเฉพาะน้ำตู้หยอดเหรียญ ผ่านเกณฑ์ไม่ถึงครึ่ง ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์ความสะอาดด้านแบคทีเรีย ขณะที่องค์การอนามัยโลกเผยขณะนี้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากการดื่มน้ำไม่สะอาดปีละ 5แสนคน ส่วนไทยพบป่วยปีละ 1 ล้านกว่าคน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน บอกว่า ในวันที่ 22 มีนาคม ทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็นวันน้ำของโลก(World Day for Water ) โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำให้ดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละอย่างน้อย 8 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตร แต่ ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้พบว่าแหล่งน้ำมีคุณภาพความปลอดภัยลดลง
ข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุว่าประชากรโลกป่วยจากการดื่มน้ำปนเปื้อนเชื้อโรค ปีละ ประมาณ 1,800 ล้านคน เช่นโรคอุจจาระร่วง บิด อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ เป็นต้น และเสียชีวิตปีละประมาณ 5แสนคน เฉลี่ยนาทีละ 1 คน
ในส่วนของประเทศไทย สำนักระบาดวิทยารายงานในปี2557 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง โรคบิด ซึ่งมีสาเหตุจากการดื่มน้ำไม่สะอาด ทั่วประเทศ 1 ล้านกว่าคน เสียชีวิต 8 คน ในรอบ 2 เดือนของปีนี้
ขณะที่ผลสำรวจของกรมอนามัย โดยนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า พบว่าประชาชนนิยมดื่มน้ำบรรจุขวดมากที่สุดร้อยละ 32 รองลงมาคือน้ำประปาร้อยละ 24 น้ำฝนร้อยละ17 น้ำจากตู้หยอดเหรียญ ร้อยละ 14และดื่มน้ำจากบ่อบาดาลและบ่อน้ำตื้นร้อยละ 7 เท่ากัน
และผลการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำดื่มที่ครัวเรือนใช้ทุกแหล่ง พบผ่านเกณฑ์ไม่ถึงครึ่ง หรือเพียงร้อยละ 33 ส่วนใหญ่พบมีการปนเปื้อนแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุโรคอุจจาระร่วง 2 ชนิด คือฟีคอลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย และโคลิฟอร์มแบคทีเรีย พบร้อยละ 70 รองลงมาคือตกเกณฑ์ด้านกายภาพ ร้อยละ 35 เช่นสีขุ่น กระด้าง และตกเกณฑ์ด้านเคมีร้อยละ 13 เช่นมีฟลูออไรด์ เหล็ก สูงเกินมาตรฐาน
และเมื่อวิเคราะห์แยกรายประเภทน้ำดื่มที่ครัวเรือนใช้ดื่ม 6 ประเภท พบน้ำที่ผ่านเกณฑ์มากที่สุดได้แก่น้ำประปา ผ่านร้อยละ 68 รองลงมาคือน้ำตู้หยอดเหรียญผ่านร้อยละ 49 น้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 20 ลิตร ผ่านร้อยละ 22 น้ำบ่อบาดาล และน้ำฝนผ่านร้อยละ 21 เท่ากัน และ ต่ำสุดคือน้ำบ่อน้ำตื้นผ่านเกณฑ์ร้อยละ 9
สำหรับน้ำตู้หยอดเหรียญ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมเนื่องจากราคาถูกกว่าน้ำบรรจุขวดประมาณ 10 เท่าตัว ในกทม.มีประมาณ 20,000 ตู้ แต่มีการแจ้งขึ้นทะเบียนเพียงร้อยละ 15 ในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่มีระบบควบคุมกำกับกิจการประเภทนี้ชัดเจน กรมอนามัยจะพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อเป็นต้นแบบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญปลอดภัย เพื่อเพิ่มการเฝ้าระวัง การปนเปื้อนสารเคมี โลหะหนักในน้ำดื่ม

logoline