svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ย้อนรอยมรดกเลือด "ตระกูลธรรมวัฒนะ"

29 กรกฎาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทันทีที่ข่าวการเสียชีวิตของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชากรไทย แพร่สะพัดออกไป เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2542 ประเด็นความสงสัยของสังคมก็เริ่มจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่า การตายของนายห้างทองนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ผลประโยชน์ นับหมื่นล้านบาทของตระกูลธรรมวัฒนะอย่างหนีไม่พ้น


7 ศพที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นนายอาคม ฉัตรชัยยันต์ ผู้เป็นพ่อ ,นายเทอดชัย บุตรชายคนโต, นางสาวกุสุมา บุตรสาวคนที่ 3 ,นางนัยนา บุตรสาวคนที่ 8 รวม กระทั่งถึงการที่นางสุวพีร์ ผู้เป็นแม่ถูกลอบยิง การเสียชีวิตและการถูกวางระเบิดของบุคคลที่เกี่ยวข้องก็มีสาเหตุในทิศทางเดียวกันหลายคนเชื่อว่า การตายของห้างทองไม่ใช่จุดจบของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน บทเรียนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันว่า คนใน "ตระกูลธรรมวัฒนะ "ต้องเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรมต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด " สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ" แม่ผู้สร้างมรดกเลือดเรื่องราวอันเป็นที่มาของปมปริศนาฆาตกรรมที่ตามล่าตามล้างไม่มีที่สิ้นสุด เริ่มต้นจุดจากมรดกกองโตเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของผู้หญิงที่มีชื่อว่า นางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ แม่ค้าขายผักที่พลิกผันตัวเองจนกลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจตลาดยิ่งเจริญและทรัพย์สินมูลค่านับหมื่นล้านบาท นางสุวพีร์เป็นบุตรของนายเอ็ง-นางเลี้ยง แซ่ลี้ มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน (พี่สาว 2 คน และน้องชายอีก 1 คน) ด้วยความที่ในวัยเด็กฐานะของครอบครัวยากจนมาก นางสุพีร์จึงต้องทำงานหาเงินเป็นตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเริ่มจากการพายเรือขายผักอยู่ตามริมคลองแถบลาดกระบังเมื่อเริ่มเป็นสาว นางสุวพีร์แต่งงานมีครอบครัวเป็นครั้งแรก ตามประวัติไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ สามีคนแรกมีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร แต่มีบุตรชาย ด้วยกัน 1 คนคือ นายเทอดชัย หรือที่รู้จักกันในชื่อของผู้ใหญ่แดง ซึ่งคาดว่าถูกฆาตกรรมเสียชีวิตไปแล้วจากกรณีของมรดกเลือดก้อนนี้เช่นกันชีวิตครอบครัวกับสามีคนแรกไม่ค่อยราบรื่นนัก ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ต้องแยกทางกันตำนานความร่ำรวยของธรรมวัฒนะเริ่มต้นขึ้น เมื่อนางสุวพีร์ได้ตกล่องปล่องชิ้นกับ นายอาคม ฉัตรชัยยันต์ และได้ให้กำเนิดบุตรด้วยกันในภายหลัง 9 คนคือ ห้างทอง กุสุมา นพดล มัลลิกา คนึงนิตย์ นฤมล นัยนา ปริญญา และนงนุช นางสุวพีร์เริ่มต้นธุรกิจที่ย่านบางขุนพรหมด้วย การลงมือเปิดกิจการปั๊มน้ำมันเล็กๆ แห่งหนึ่ง รวมทั้งการรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว แต่กิจการก็ไม่ราบรื่นเท่าใดนัก เธอจึงตัดสินใจเปิดร้านอาหารชื่อ ศรีฟ้า ที่สี่แยกเกียกกาย เพื่อจำหน่ายอาหารให้กับทหารในกรม ปตอ.ซึ่งอยู่ในละแวกนั้น จนกลายเป็นโอกาสที่ทำให้นางสุวพีร์ได้รู้จัก กับนายทหารอาวุโสหลายนายส่วนสามีได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์และธุรกิจด้านการบริการ เช่น โรงไฟฟ้า การประปาและสัมปทานเดินรถเมล์ระหว่างสะพานใหม่-ลำลูกกา ด้วยความที่นางสุวพีร์ต้องขึ้นลงเรือที่สะพานใหม่บ่อยครั้ง ประกอบกับการที่เป็นคนช่างสังเกตและมองการณ์ไกล ทำให้เริ่มมองเห็นว่าที่ดินย่านสะพานใหม่จะไปได้ดีในอนาคต นางสุวพีร์จึงเริ่มมองหาทางที่จะสามารถหาเงินมาซื้อที่ดินในย่านนี้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองท่ามกลางเสียงคัดค้านของญาติพี่น้อง นางสุวพีร์ตัดสินใจกู้ยืมเงินจากบุคคลและสถาบันการเงินเพื่อซื้อที่ดินผืนนี้ อาทิ นายเธียร นางทรัพย์ เขียงขำแสง นายสุขุม นวพันธุ์ นางสาวยัสปาล กอร์ และธนาคารกรุงไทยหลังจากนั้น นางสุวพีร์ทำทุกวิถีทางเพื่อพลิกที่ดินให้กลายเป็นตลาดสดขนาดใหญ่ในย่านบางเขน เช่น ติดต่อกับหน่วยราชการเพื่อขอใบอนุญาตเปิดตลาด แต่บังเอิญที่ดิน ติดกับรั้วของทหารอากาศ ซึ่ง อาจมีผลกระทบกับความปลอดภัยของหน่วยราชการ จึงทำให้ความฝันมีอันต้องสะดุดลงในเบื้องแรกแต่นางสุวพีร์ก็ไม่สิ้นหวัง เธอบากหน้าตรงเข้า ไปขออนุญาตกับจอมพลฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ผู้บัญชาการทหารอากาศในขณะนั้น และก็ไม่ผิดหวัง เมื่อผู้บัญชาการทหารอากาศเปิดไฟเขียวให้ตลาดสดยิ่งเจริญเปิดทำการเป็นวันแรกในวันที่ 11 สิงหาคม 2498 ตามกำหนดการที่นางสุวพีร์ไปขอ ฤกษ์โสเภณีจากหลวงปู่บุ่ง อดีตเจ้าอาวาสวัดใหม่ทองเสน ซึ่งเป็นฤกษ์ที่ทำให้ตลาดรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบันเมื่อตลาดเปิด นางสุวพีร์ลงทุนประชาสัมพันธ์ตลาดอย่างหนัก สูญเสียทรัพย์สินไป เป็นจำนวนมาก บางครั้งถึงขนาดยอมให้คนเช่าฟรีเพื่อแลกกับการให้คนรู้จัก ขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับภาระหนี้เงินกู้ที่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่นางสุวพีร์ก็พยายามรักษาตลาดเอา ไว้อย่างสุดความสามารถ แม้กระทั่งต้องนำทรัพย์สินมีค่าที่มีอยู่ในบ้านทั้งหมดไปขายก็ยอม เมื่อมีคนรู้จักมากขึ้น รายได้จากค่าเช่าแผงก็เริ่ม ไหลมาเทมาเป็นจำนวนมหาศาล นางสุวพีร์นำรายได้ เหล่านั้นไปซื้อที่ดินย่านดอนเมืองลามไปถึงปทุมธานี ฉะเชิงเทรา กลายเป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สมบัติ ทั้งอสังหาริมทรัพย์และเงินสดมากถึงกว่าหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
ทว่า.. มรดกที่นางสุวพีร์สร้างขึ้นมาให้กับลูกๆ กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นคดีฆาตกรรมของตระกูลธรรมวัฒนะครั้งแล้วครั้งเล่าในเวลาต่อมา..ใครจะเป็นศพต่อไป? ก่อนหน้าที่เรื่องราวจะมายุติที่การเสียชีวิตของ "ห้างทอง" ... โศกนาฏกรรมของตระกูล "ธรรมวัฒนะ" เกิดขึ้นสืบเนื่องมาเป็นเวลานับสิบปี จนเหมือนกับเป็นคำสาปที่ธำรงควบคู่กับ ตระกูลนี้อย่างแยกกันไม่ออกที่สำคัญคือทุกชีวิตที่ต้องล้มหายตายจาก ล้วนแล้วแต่มีผลสืบเนื่องมาจากผลประโยชน์และการล้างแค้นแทบทั้งสิ้นศพแรกของธรรมวัฒนะเริ่มต้นเรียกน้ำย่อยจาก นายอาคม ฉัตรชัยยันต์ สามีคนที่สองของนางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ ที่ถูกลอบยิงเสียชีวิตในปี 2509 และเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งประเด็นสันนิษฐานว่า เป็นการขัดผลประโยชน์กิจการโรงฆ่าสัตว์ อย่างไรก็ตาม ปีที่ถือว่าตระกูลธรรมวัฒนะประสบกับชะตากรรมอันเลวร้ายที่สุดคือ ปี 2522 ขณะที่นางสุวพีร์เดินทางกลับมาจากศาล ได้ถูกลอบยิงบาด เจ็บสาหัสจนกลายเป็นอัมพาต ต้องนั่งรถเข็นและหอบสังขารหนีไปรักษาตัวอยู่ที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกับมอบหมายให้ น.ส.กุสุมา บุตรคนที่ 3 ดูแลผลประโยชน์ของตระกูลทั้งหมด เหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่สามารถจับตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ ความรุนแรงยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะหลังจากเวลาผ่านไปเพียงแค่ 3 ปี เช้าวันที่ 30 กันยายน 2525 น.ส.กุสุมาก็ได้กลายเป็นศพที่ 2 เมื่อถูกลอบยิงเข้าที่ศีรษะในระยะเผาขนระหว่างที่เดินตรวจตลาด ยิ่งเจริญในครั้งนี้ ตำรวจสามารถจับมือปืนได้ ซึ่งผู้สังหารได้ซัดทอดว่านายบวร ธรรมวัฒนะ ผู้เป็นอาและหลานสาวอีก 2 คนเป็นผู้บงการฆ่าเพราะต้องการฮุบมรดก ซึ่งภายหลังศาลฎีกาตัดสินยกฟ้อง เดือนมีนาคม 2526 นางสุวพีร์ตัดสินใจเดินทาง กลับมาจากต่างประเทศและลงมือดูแลกิจการด้วยตนเองอีกครั้ง สำหรับศพที่สามของธรรมวัฒนะคือ นางนัยนา ตามประกอบ บุตรสาวคนที่ 8 เรื่องราวยิ่งเต็มไปด้วยเงื่อนงำที่สลับซับซ้อนมากขึ้นไปกว่าเดิมอีก เพราะมีความเกี่ยวโยงกับการเสียชีวิตของบุคคลอีกหลายคนในเวลาต่อมา กล่าวคือ หลังจากที่นางสุวพีร์กลับบริหารงานได้ไม่นานนักในปี 2531 ก็ล้มป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลและแพทย์ลงความเห็นว่านางสุวพีร์ป่วยเป็น โรคมะเร็งขั้นสุดท้าย มีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่ 6-8 เดือนเท่านั้น ขณะที่นางสุวพีร์เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและจัดการทำพินัยกรรมเอาไว้เสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่านางนัยนาได้แอบหนีไปแต่งงานกับ พ.ต.ต.สมาน ตามประกอบ (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับตระกูลธรรมวัฒนะ กระทั่งนางสุวพีร์ถึงขนาดไม่มั่นใจว่าบุตรสาวจะนำความลับเรื่องมรดกไปบอกแก่สามีหรือไม่ พร้อมกับตัดนางนัยนา ออกจากกองมรดกในที่สุดนางสุวพีร์ก็เสียชีวิตลงในวันที่ 22 เมษายน 2533 ซึ่งขณะเสียชีวิตนางสุวพีร์ได้พยายาม ใช้ปากกาเขียนตัวหนังสือใส่กระดาษให้ลูกๆ ไว้ว่า "รักสามัคคี" ก่อนที่จะสิ้นใจจากนั้นมีการเปิดพินัยกรรมเพื่อแบ่งสมบัติให้ลูกๆ ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่นางนัยนาที่ถูกตัดขาดออกจากกองมรดกก็ได้รับส่วนแบ่งนี้เช่นกัน ทว่าหลังจากที่นางนัยนาได้รับมรดกไม่ถึงเดือน ข่าวร้ายก็มาเยือนธรรมวัฒนะอีกครั้ง เมื่อนางมัลลิกา บุตรสาวคนที่ 5 ได้รับโทรศัพท์แจ้งว่า มีคนพบนางนัยนาเสียชีวิตอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีสภาพของศพ มือถูกล็อกด้วยกุญแจมือทั้งสองข้าง ฆาตกรลงมือฟันและยิงอย่างทารุณ ก่อนนำ ศพยัดใส่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปทิ้งไว้ที่จังหวัดกาญจนบุรีหลังจากการเสียชีวิตของนางนัยนา ขบวนการปิดปากก็เริ่มขึ้น เมื่อตำรวจกลุ่มที่ร่วมขบวนการสังหารโหด 2 คน ได้ถูกฆ่าตายอย่างเหี้ยมโหด เหยื่ออาถรรพ์รายที่สี่คือพี่ชายต่างบิดาของตระกูล นายเทอดชัย ธรรมวัฒนะ หรือ ผู้ใหญ่แดง เมื่อนางนัยนาเสียชีวิต ผู้ใหญ่แดงก็พาทายาททุกคนเปิดแถลงข่าวเคลียร์ความบริสุทธิ์ที่โรงแรมแชงกรี-ล่า พร้อมกับโยงปมประเด็นว่าคนใกล้ชิดนางนัยนา น่าจะรู้เห็นเบื้องหลังการฆาตกรรมแต่แล้วคล้อยหลังเพียงแค่ปีเศษ ผู้ใหญ่แดงก็หายตัวไปอย่างลึกลับขณะเดินทางไปซื้อขายที่ดินที่จังหวัดหนองคาย กล่าวคือระหว่างลงจากเครื่องบิน ได้ถูกกลุ่มมือสังหารในเครื่องแบบ มีตำรวจสน. ดอนเมือง 1 นาย สน.ทุ่งมหาเมฆ 1 นายและพลเรือน อีก 1 คน ลากตัวขึ้นรถตู้และสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งคาดว่าขณะนี้ผู้ใหญ่แดงน่าจะเสียชีวิตแล้ว ต่อมาตำรวจ สน.ดอนเมือง ผู้ร่วมอุ้มผู้ใหญ่แดงก็ถูกฆ่าปิดปากเพราะนำเช็คเงินสดของผู้ใหญ่แดงไปขึ้นเงินเช่นเดียวกับตำรวจ สน.ดอนเมืองอีกคนหนึ่งก็ถูกรถพ่วง 18 ล้อ ขับเบียดตกถนนเสียชีวิต ในเวลาไล่เลี่ยกันความรุนแรงไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะในปี 2540 พ.ต.ท.สมาน ตามประกอบ อดีตเขยของตระกูลธรรมวัฒนะ สามีของนางนัยนาก็ถูกคนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จังหวัดนครราชสีมา แต่รอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด มรดกเลือดธรรมวัฒนะสำหรับการตายของนายห้างทอง เหยื่อรายหลังสุดนั้น ปริศนาการตายพุ่งเป้าตรงไปที่ทรัพย์สมบัติกองโตและความขัดแย้งของพี่น้องอย่างหนีไม่พ้น ที่สำคัญคือ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่านายห้างทองไม่ได้ฆ่าตัวตาย นายนพดล ธรรมวัฒนะ และนางมัลลิการ์ หลีระพันธ์ น้องชายและน้องสาวของนายห้างทองยอม รับว่า ในจำนวนพี่น้องที่เหลือมีความบาดหมางกันจริง เกี่ยวกับเรื่องการจัดการมรดก ซึ่งก็ได้พูดคุยกันมานานแล้ว ยังไม่ได้ข้อยุติ การขัดแย้งในครั้งนี้ ทำให้พี่น้องธรรมวัฒนะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย
แต่ในวันนี้ทุกอย่างจบลงด้วยดี เมื่อนายปริญญา ธรรมวัฒนะ ยอมจับมือกับอีกฝ่ายนำโดยนางนฤมล มังกรพานิชย์ โดยยอมยุติคดีทั้งหมดที่มีการฟ้องกันระหว่างพี่น้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญารวมทั้งสิ้่น 48 คดี .. ปิดฉากตำนานมรดกเลือดตระกูลธรรมวัฒนะ เสียที

logoline