บ้านคุณทวด (อาจ้อ) เป็น ภาษาฮกเกี้ยน บ้านอาจ้อ เป็นบ้านสีขาว สไตล์ชิโน-โปรตุกิส หรือ ชิโน-โคโลเนียล ที่ถูกทิ้งร้างมานาน ถูกปัดฝุ่นทำพิพิธภัณฑ์ ภายใต้ชื่อ “บ้านอาจ้อ” อายุของบ้านหลังนี้ราวๆ 87 ปี (สร้างเมื่อปีพศ. 2479) อ๊อด- สัจจ หงษ์หยก เจ้าของบ้านรุ่นที่ 4 (เขามีพี่น้องทั้งหมด 3 คนคือ อ๊อด-สัจจ โอ๊ค-บรรลุ โอ๊ค ภควา และ เอก-สติ นามสกุลหงษ์หยก) เล่าว่า
สมัยคุณทวด Copy มาจากบ้านหลังหนึ่งใน “ปีนัง” สไตล์ อั่งมอหลาว (ตึกฝรั่ง) ตัวตึกเป็นปูน ตกแต่งตามความเชื่อแบบจีนฮกเกี้ยน หลังจากอาจ้อสร้างบ้านหลังนี้เสร็จก็มอบให้เป็นเรือนหอของคุณปู่ แต่งงานและอาศัยอยู่บ้านหลังนี้ยาวนาน 27 ปี ก่อนย้ายกลับเข้าไปอยู่ที่บ้านในเมืองภูเก็ต เพราะช่วงนั้นราคาของแร่ดีบุกไม่ค่อยดีแล้ว
หลังจากบ้านถูกปิดตายมานานร่วม 37 ปี อ๊อด-สัจจ ใช้เวลาซ่อมบ้าน 3 ปี (ออกแบบ Service Design ทั้งโครงการโดย จุ๋ม – อรสา โตสว่าง)แล้วย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ ทว่าจุดประสงค์ของการฟื้นคืนชีพให้บ้านหลังนี้ก็เพื่อเป็นของขวัญให้กับอากง (คุณปู่) ของเขานั่นเองเชื่อไหมว่า
พอซ่อมบ้านใกล้เสร็จ เชื้อมะเร็งในร่างกายของอากงก็หยุดเจริญเติบโต สุขภาพของอากงดีขึ้น แข็งแรงขึ้น จึงคิดว่าบ้านหลังนี้คือปาฏิหาริย์โดยแท้!
อ่านข่าวที่เกี่ยวของ >>
เจาะธุรกิจ "โอ๊ค" ภควา หงษ์หยก ว่าที่สามี ปอย ตรีชฎา
เปิดเส้นทางรักดั่งพรหมลิขิต 'ปอย -โอ๊ค' จากขอพรเรื่องคู่ชีวิต สู่วันวิวาห์
ชวนเที่ยว ‘ภูเก็ต’ ชม ‘บ้านอาจ้อ’ พิพิธภัณฑ์บ้านสีขาว สไตล์ ‘ชิโน-โคโลเนียล’
อ๊อด- สัจจ หงษ์หยก เจ้าของบ้านรุ่นที่ 4
เมื่อเดินเข้าไปในตัวบ้าน ห้องโถงชั้น 1 จะเห็นเครื่องดนตรีต่างๆ จัดวางเอาไว้ อาทิ เปียโน ฯลฯ เนื่องจาก อากง เป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี วงแรกของจังหวัดภูเก็ต ชื่อวง “The Shark ณรงค์ และสหาย” ในส่วนของห้องครัวกับห้องกินข้าวเดิม ปรับปรุงเป็นร้านอาหารชื่อ “ร้านโต๊ะแดง” เป็นส่วนหารายได้หลักของบ้านหลังนี้
ห้องโถงชั้น 1 มีเครื่องดนตรี่ของอากง
“ตัวบ้านเราทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ค่าเข้าชม 100 บาท นำเงินไปอุปการะเด็กนักเรียนยากจนและซ่อมแซมบ้าน เนื่องจากบ้านอายุ ร่วม 87 ปีแล้ว ถึงแม้ว่าสถาปนิก ช่างก่อสร้างมาดูแล้วว่ายังแข็งแรง แต่เราก็กลัวว่าระเบียงบ้านจะรับน้ำหนักคนจำนวนมากไม่ไหว เกรงว่าระเบียงบ้านจะหล่นลงไปชั้น 1 ก็เลยจำกัดคนเข้าชมต่อรอบ เพราะที่ระเบียงถ่ายรูปออกมาแล้วสวยมาก ชั้น 2 ชั้น 3 ของบ้านก็จะเป็นไม้ คนโบราณเขาจะเดินกันเบาๆ ถ้าเดินแรงก็จะกระเทือนไปทั้งหลังเลย”
มุมขวามือของห้องโถงชั้นล่าง
แขกที่มาเยือน “บ้านอาจ้อ” ต้องเข้าประตูหน้า วัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอลที่วางไว้หน้าบ้าน แล้วเดินผ่านห้องโถง ถูกต้องตามธรรมเนียมเดิม ถ้าสนิทกันแล้วก็เดินเข้าชมห้องครัว ห้องอาหาร ขึ้นบันไดไปชั้น 2-3 ได้ ตามธรรมเนียมแขกผู้มาเยือนจะไม่ตีท้ายครัวเด็ดขาด ทว่าปัจจุบันเนื่องจากห้องครัวเดิมทำเป็นร้านอาหาร จึงมีลูกค้าที่เข้ามาทางร้านอาหาร แล้วเดินทะลุเข้าไปในบ้านโดยไม่ผ่านห้องโถง
ห้องโถงหลักชั้นล่าง เดิมต้องมีรูปบรรพบุรุษ ก็คือ “อาจ้อ” ทั้งชายและหญิง ฯลฯ ซึ่งเป็นภาพหน้าตรงไม่ยิ้มดูแล้วเคร่งขรึมมากลูกหลานจึงอัญเชิญภาพทั้งหมดไปไว้ในห้องโถงปีกซ้าย โถงกลางจึงวาดภาพที่เป็นสัญลักษณ์ของบ้านหลังนี้เอาไว้แทนที่ นั่นก็คือรูป “ดอกโบตั๋น” เป็นตัวแทนของ “อาจ้อผู้หญิง”
โถงชั้น 1 ของ “บ้านอาจ้อ” สไตล์ “ชิโน-โคโลเนียล” หลังนี้ประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง ซ้ายมือคือห้องนอนของ “อาจ้อ” ขวามือเป็นห้องของนอนของแขก ตามหลักฮวงจุ้ยของบ้าน ด้านหลังจะเป็นทิศตะวันออก ด้านซ้ายจะเป็นทิศใต้ ดังนั้นเจ้าของบ้านจะต้องมีห้องอยู่ด้านซ้ายมือ นอกจากจะโดนแดดน้อยแล้ว ตามศาสตร์จีนถือว่าเป็นห้องที่อยู่แล้วรวย
ทางด้าน “อ๊อด-สัจจ” เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า
“อากง” ก็จะอยู่ที่ชั้น 2 ตำแหน่งเดียวกัน ถือว่า “อาจ้อ” เป็นผู้สนับสนุน “อากง” ครอบครัวของอากงก็จะอาศัยอยู่ที่ชั้น 2 ส่วนชั้นบนสุดเป็นห้องพระ ด้านหลังของบ้านมีบันไดสีเขียว ไม่มีเหลี่ยมมุมใดๆ ถือว่าเป็นอีกฮวงจุ้ยสำคัญของบ้านเช่นกันทั้งหมดเน้นเลขคี่ถือว่าเป็นเลขมงคลของจีน
คุณจุ๋ม-อรสา โตสว่าง และ อ๊อด-สัจจ หงษ์หยก
ทายาทรุ่นที่ 4 เล่าต่อไปว่า ร้านอาหาร “โต๊ะแดง” เสิร์ฟอาหารภูเก็ต และอาหารสมัยใหม่ เมนูแนะนำเช่น “แกงคั่วเงาะใส่หมูย่าง” เสิร์ฟตามฤดูกาล เข้ากันได้ดีกับ “หมี่กรอบ” อีกเมนูยอดนิยมก็คือ “ปลาทอดสมุนไพร” ใช้ปลากระพงตัวใหญ่ แล่แล้วทอดจนเนื้อแห้ง เสิร์ฟกับน้ำจิ้มโบราณมีกระเทียมโทนเป็นส่วนผสมพิเศษ “ปลาทอดราดพริกขิง” ขนมก็มี “ชีสเค้ก” แบบไทยๆ ราดด้วยซอสกระเจี๊ยบที่ปลูกในบริเวณบ้าน “ขนมหม้อแกง” เคยทำถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 มาแล้ว
ห้องโถงชั้น 2 ของ "บ้านอาจ้อ"
มีขนมหม้อแกงเผือกหน้าหอมโบราณ กับ ขนมหม้อแกงไข่ปลาทอง เหมือนขนมทองหยอดแต่ทำเป็นไข่ปลาเล็กๆหวานน้อยกว่าทองหยอด มีทาร์ต ลูกหม่อน ทาร์ตสับปะรดภูเก็ต ทาร์ตโกโก้ ทาร์ตแมคคาเดเมีย ทาร์ตมะม่วงหิมพานต์ ขนมทั้งหมดรสชาติไม่หวานจัด ร้านอาหารโต๊ะแดง เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 22.00 น. ครัวปิด (21.00 น.) หากมาเป็นหมู่คณะต้องจองล่วงหน้านะจ๊ะ
ที่สุดแห่งเมนู "อิ่วปึ่ง" ทำจากข้าวเหนียวผัดกับกุ้งแห้ง
ทาง “บ้านอาจ้อ” จัดเตรียมอาหารที่ชื่อว่า อิ่วปึ่ง มาให้ทดลองชิม พร้อมกับเล่าเรื่องราวของขนมชนิดนี้ให้ฟังว่า เวลาที่ “ชาวภูเก็ต” จัดงานแต่งงาน ถือว่าเป็นการเริ่มชีวิตใหม่ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เรื่องใหญ่ถัดมาก็คือเมื่อแต่งงานแล้วก็คาดหวังว่าจะต้องมีลูก พอมีลูกแล้ว อายุครบ 1 เดือนก็จะพาทารกน้อย พร้อมกับ “อิ่วปึ่ง” ซึ่งทำจากข้าวเหนียวผัดกับกุ้งแห้ง ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว-ซีอิ๊วดำ แบบจีนฮกเกี้ยน โรยหน้าด้วยหมูแดงและหอมเจียว (อิ่วผ้าง) มีไข่ต้มแดงและเครื่องเคียงต่างๆ ไปไหว้ที่ศาลเจ้าเพื่อขอพรให้สุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง ในสำรับนอกจาก “อิ่วปึ่ง”แล้วยังมี “ฮวดโก้ย” (ขนมถ้วยฟูสีชมพู) และ “อังกู้” (ขนมเต่าแดง) เสร็จจากไหว้เจ้าแล้วก็แบ่ง “อิ่วปึ่ง” ไปแจกจ่ายสำหรับบรรดาญาติๆ ที่รัก ญาติสนิททุกคน
ซึ่งครอบครัวคนจีนมีญาติเยอะไม่ต่ำกว่า 100 คน การทำ “อิ่วปึ่ง” จึงเป็นงานใหญ่ไม่เบา จากนั้นก็นำ “อิ่วปึ่ง” ใส่ปิ่นโตไปแจกตามบ้าน เพื่อจะประกาศว่าฉันมีลูก-หลานสืบสกุลแล้วนะ “ข้าวเหนียว” หมายถึงอายุยืน หมูแดงและไข่สีแดง หมายความว่า “ขยันขันแข็ง” อีกอย่างข้าวเหนียวแสดงถึงความเหนียวแน่น ช่วยครอบครัวให้เจริญรุ่งเรือง ญาติๆพอได้รับ “อิ่วปึ่ง” ก็จะนำภาชนะไปล้างให้สะอาดแล้วใส่ข้าวสารและไข่ไก่กลับมาเป็นธรรมเนียม ที่สำคัญจะมี “ขวัญถุง” วางบนข้าวสารฝากมาให้หลานตัวน้อย เป็นสร้อยทอง กำไลทอง ทองคำแท่ง เครื่องประดับ เพชรนิลจินดา ฯลฯ ตามฐานะอีกด้วย
ผู้มาเยือนทุกคนต่างติดใจในความอร่อยของ "อิ่วปึ่ง" และขนมของเมือง "ภูเก็ต" ที่ทางเจ้าของบ้านจัดไว้ต้อนรับ
เที่ยว “ภูเก็ต” อย่าลืมแวะไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ “บ้านอาจ้อ”
บ้านสีขาวสวยสะดุดตา มาพร้อมสไตล์ “ชิโน-โคโลเนียล”
ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 102 ถนน เทพกระษัตรี ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง เทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
บ้านอาจ้อ เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 22.00 น.
โทรศัพท์ : 062-459-8889
ติดตามได้ที่ : http://www.baanarjor.com/
ขอขอบคุณที่มา : Baan Ar-Jor บ้านอาจ้อ
อ่านข่าวที่เกี่ยวของ >>
เจาะธุรกิจ "โอ๊ค" ภควา หงษ์หยก ว่าที่สามี ปอย ตรีชฎา
เปิดเส้นทางรักดั่งพรหมลิขิต 'ปอย -โอ๊ค' จากขอพรเรื่องคู่ชีวิต สู่วันวิวาห์
ชวนเที่ยว ‘ภูเก็ต’ ชม ‘บ้านอาจ้อ’ พิพิธภัณฑ์บ้านสีขาว สไตล์ ‘ชิโน-โคโลเนียล’