ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว Rap Against Dictatorship ประสบความสำเร็จอย่างมาก กับเพลง ‘ประเทศกูมี’ เพลงแรปที่สามารถปลุกกระแสความสนใจทางการเมืองให้กับคนรุ่นใหม่ วันนี้พวกเขากลับมาอีกครั้ง เพื่อต้องการให้คนไทยหันมาสนใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันกันมากขึ้น กับ เพลง ‘2500’ เพลงที่อยากให้ทุกคนหันมาสนใจการเลือกตั้ง ส.ว. 67
กลุ่ม Rap Against Dictatorship หรือ อาร์เอดี (R.A.D.) กลุ่มศิลปินที่เป็นการรวมตัวกันของแรปเปอร์หลายคน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 โดยมีจุดเริ่มต้นมาจาก Liberate P และยังมี Jacoboi, E.T., รวมถึง HOCKHACKER มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานเพลง ทั้งนี้จุดประสงค์หลักในการทำเพลงของพวกเขาคือ ความต้องการที่จะแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านเผด็จการตามชื่อของพวกเขา ผ่านการใช้เพลงแรปเป็นเครื่องมือในการสื่อสารความคิดเห็นและบอกเล่าประเด็นทางการเมืองและสังคม เพื่อเผยแพร่ให้เกิดกระแสและการขับเคลื่อนในสังคมไทย
ครั้งหนึ่งกลุ่ม Rap Against Dictatorship เคยสร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองอย่าง กระแสเพลง ‘ประเทศกูมี’ ซึ่งเป็นการจุดกระแสความสนใจทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย โดย #ประเทศกูมี ติดอันดับ 1 บนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ ณ เวลานั้น และในปัจจุบันเพลงดังกล่าวมียอดรับชมทะลุกว่า 112 ล้านครั้งแล้วบนยูทูบ
การกลับมาของ Rap Against Dictatorship ในครั้งนี้ กับเพลง ‘2,500’ ยังคงคอนเซปต์การแรปแบบดุดันและเนื้อเพลงที่ตรงไปตรงมา แต่ก็ผสานการเสียดสีและจิกกัด เพื่อสื่อสารให้ผู้ฟังได้รับรู้ถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าประเด็นที่เป็นกระแสมากที่สุดตอนนี้คงหนีไม่พ้นประเด็น ‘การเลือกตั้ง ส.ว. 67’ ซึ่งมีกติกาการเลือกตั้งที่ซับซ้อนและคลุมเครือ ทำให้ประชาชนยากต่อการมีส่วนร่วม ที่สำคัญไปกว่านั้นการเปิดรับสมัคร ส.ว. ในครั้งนี้ แม้รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาทั่วไปสามารถสมัครได้ ทว่าด้วยค่าธรรมเนียมการสมัครราคา 2,500 บาท ซึ่งในทางหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนที่จะสมัครก็ต้องมีกำลังทรัพย์พอสมควร อีกทั้งตัวเลขดังกล่าวก็จะล้อไปกับชื่อเพลง ‘2,500’ นั่นเอง
สำหรับใครที่ยังไม่ได้ฟังเพลง ‘2500’ สามารถไปรับฟังกันได้แล้วที่ยูทูบช่อง Rap Against Dictatorship อีกทั้งยังเป็นหน้าที่ของประชาชนอย่างเราทุกคนที่ต้องติดตามกันต่อไปถึงการเลือกตั้ง ส.ว. ที่จะเกิดขึ้นว่า ทิศทางการเลือกตั้งใจเป็นอย่างไร? แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่?
ข้อมูลอ้างอิง