svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ถึงจะตามจิกให้เรียนภาษาบ่อยๆ แต่ทำไมเราโกรธนกฮูกเขียวจาก Duolingo ไม่ลง

23 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตั้งใจสอนทุกวัน มีคำศัพท์ใหม่ๆ มาให้ท่องทุกคืน และถ้าวันไหนคุณลืม นกฮูกสีเขียวที่ชื่อ Duo จากแอปฯ สอนภาษา Duolingo จะคอยจิกและเตือนคุณให้หมั่นทบทวนบทเรียนอยู่เสมอ บางทีนกฮูกตัวนี้อาจจะเป็นครูสอนภาษาที่เป็นห่วงคุณมากที่สุดก็ได้

“พอจะมีเวลาซัก 2-3 นาทีไหมเอ่ย?”
“นี่ก็ผ่านมา 3 วันแล้วน้า...”
“คุณทำให้ Duo เศร้าใจ”

นี่ไม่ใช่ข้อความจากเพื่อนที่ชวนไปขายตรงหรือแฟนเก่ากลับมาง้อ แต่เป็นข้อความที่ Duo นกฮูกสีเขียวจากแอปฯ Duolingo ส่งมาทุกครั้งเมื่อคุณขาดเรียน

Duolingo

Duolingo คือแอปฯ ฝึกภาษาออนไลน์ที่สามารถเรียนฟรีได้ทุกที่ ทุกเวลา แถมยังมีให้เลือกกว่า 40 ภาษา และมีผู้ใช้งานราวๆ 500 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก statista ที่ระบุว่า เดือนมกราคมปี 2024 Duolingo มียอดดาวน์โหลดถึง 16 ล้านครั้งต่อเดือน ซึ่งมาแรงเป็นอันดับ 1 แซงแอปฯ สอนภาษาอื่นๆ แบบทิ้งห่าง 
 

แม้ Duolingo เพิ่งจะฮอตฮิตในบ้านเราในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่จริงๆ แล้วแอปพลิเคชั่นนี้เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2012 โดยสองผู้ก่อตั้งคือ ‘หลุยส์ วอน อาห์น’ (Luis von Ahn) และ ‘เซเวริน แฮกเกอร์’ (Severin Hacker) ที่ตั้งใจอยากให้การเรียนภาษาเป็นเรื่องสนุก เข้าถึงง่าย และทลายข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่าย

‘หลุยส์ วอน อาห์น’ (Luis von Ahn). ภาพจาก TED Talk  

ดังนั้น โมเดลธุรกิจของ Duolingo จึงเป็นแบบ ‘freemium’ คล้ายกับเวลาใช้งาน Spotify หรือ Linkedin ที่ทุกคนใช้ได้ ‘ฟรี’ แต่ก็มีระบบ subscription หากต้องการสิทธิพิเศษบางอย่างเพิ่มเข้ามา เช่น ไม่มีโฆษณามาคั่น สามารถเรียนแบบออฟไลน์ได้ ซึ่งรายได้หลักเกือบ 80% ของ Duolingo มาจากระบบ subscription นี้ รองลงมาคือรายได้จากโฆษณา และช่องทางอื่นๆ เช่น แบบทดสอบและใบรับรองด้านภาษา 

นอกจาก Duolingo จะเป็นแอปฯ ฟรีที่มาพร้อมวิธีการเรียนแสนสนุกเหมือนกับการเล่นเกม (gamification) รวมทั้งนำคำตอบของผู้ใช้งานไปวิเคราะห์เพื่อสร้างบทเรียนให้เหมาะกับคนๆ นั้นแล้ว สิ่งที่เป็นเหมือน ‘Iconic’ ของแอปฯ คือเจ้านกฮูก Duo มาสคอตคาแรกเตอร์ชัดที่ทั้งเกรี้ยวกราด เจ้าน้ำตา และมาพร้อมภาษาจิกกัดเบาๆ แต่ก็สอดแทรกไปด้วยอารมณ์ขัน เพราะไม่ว่าคุณจะลืมเข้าแอปฯ 1 วัน หรือโดดเรียน 1 สัปดาห์ เจ้านกตัวนี้ก็จะตามไปทุกหนทุกแห่ง ทั้งแจ้งเตือนในแอปฯ ข้อความในอีเมล หรือถ้าเปิดโซเชียลมีเดีย เราอาจจะเจอคอนเทนต์ของ Duo มากระตุ้นให้กลับไปเรียนอย่างสม่ำเสมอ

Duolingo
 

ครั้งหนึ่ง Duo เคยร่วมมือกับ Angry Bird ทำคลิปโฆษณาที่บุกเข้าไปในบาร์ เพียงเพราะชายคนหนึ่งเมินแจ้งเตือนของ Duo ที่ส่งไปซ้ำๆ เจ้านกขี้เหวี่ยงทั้งสองตัวเลยช่วยกันทุบทำลายข้าวของ ทั้งแก้วแตก เก้าอี้หัก ผู้คนในบาร์วิ่งวุ่นปั่นป่วน จนในที่สุด ชายคนนั้นก็ยอมหยิบมือถือกดเข้าไปทำบทเรียนให้ครบจนได้ ส่วนใน TikTok ของ Duolingo แน่นอนว่าเต็มไปด้วยคอนเทนต์ทำนองนี้ที่ทั้งสนุกและไม่ตกเทรนด์ จนทำให้มียอดผู้ติดตามหลักล้าน เช่นเดียวกับยอดเอนเกจเมนต์ที่มาแรงไม่มีแผ่ว แม้ว่าหลายคลิปจะชวนให้เราต้องเหลือบมองชื่อแอคเคาต์ดีๆ อีกครั้งว่านี่คือ official account จริงหรือเปล่า 

แต่ทั้งหมดนี้ ก็ทำให้ผู้คนจดจำและสนุกกับการเรียนภาษามากขึ้น จนนับว่า Duolingo ประสบความสำเร็จทั้งในแง่จำนวนผู้ใช้งานและภาพจำของแบรนด์ในโซเชียลมีเดีย

แต่เคยสงสัยกันไหมว่า อะไรทำให้ Duo คีพคาแรกเตอร์เป็นนกสีเขียวผู้เกรี้ยวกราดขนาดนี้?

Duolingo


จุดเริ่มต้นความจิกกัดของนกฮูกสีเขียว

แน่นอนว่า นกฮูก เป็นสัญลักษณ์ของความรู้และปัญญาในตัวเองอยู่แล้ว ส่วนสีเขียวสว่างของนกตัวนี้มาจากสีที่ผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง ‘เซเวริน’ ไม่ชอบและไม่อยากใช้กับแบรนด์เลย แต่แทนที่จะตัดออกจากชอยส์ ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนอย่าง ‘หลุยส์’ กลับตัดสินใจใช้สีเขียวสว่างนี้ไปซะเลย ส่วนคาแรกเตอร์จิกกัดของเจ้านก ก็เกิดจากความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่อยากให้ทุกคนเข้ามาฝึกภาษาอย่างสม่ำเสมอ

“Duo เป็นเหมือนโค้ช เขาอยากให้คุณประสบความสำเร็จและช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายของการเรียนภาษา เขามีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งนั้น” เกร็ก ฮาร์ตแมน (Greg Hartman) หัวหน้าฝ่ายศิลป์ผู้ออกแบบ Duo เล่าถึงคาแรกเตอร์ที่เขาวางเอาไว้ “เขาใส่ใจการเรียนภาษาในแต่ละวันของคุณมาก ถ้าคุณลืมเข้าไปเรียน อาจให้เขาลำบากใจ เสียน้ำตา และบางครั้งอาจเกิดการกระทำที่รุนแรงขึ้นมาได้ แต่ถ้าคุณใช้เวลาเล็กน้อยเพื่อเข้าไปฝึกภาษาในแอปฯ เขาก็อาจจะโบยบินตีลังกาอย่างเริงร่า” เรียกง่ายๆ ว่าอารมณ์ของเจ้านกตัวนี้ขึ้นอยู่กับนิสัยการเรียนรู้ของเรานั่นเอง

Duolingo

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็น Duo เรียกร้องความสนใจจากผู้เรียนตั้งแต่แจ้งเตือนในแอปฯ ข้อความในอีเมล คลิปโฆษณาใน YouTube ไปจนถึงไวรัลใน TikTok หรือแม้แต่ไอคอนของแอปฯ ที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลา อย่างช่วงปลายปี 2023 เราจะเห็นไอคอน Duo หน้าละลายเหมือนไอศกรีมเหลว ส่วนตอนนี้หลายคนจะเห็นเจ้านกหน้าเหี่ยว แววตาเศร้าสร้อย แถมทาง Doulingo ยังเคยออกมาให้คำตอบเรื่องนี้ว่า ความหย่อนคล้อยบนใบหน้าของ Duo มาจากการทำงานอย่างหนักหน่วงในช่วงต้นปี 2024 เพื่อผลักดันให้ทุกคนฝึกภาษาอย่างสม่ำเสมอ 

แม้การเปลี่ยนไอคอนของแอปฯ ดูหมือนจะเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยสังเกตกัน แต่เรื่องนี้กลับกลายเป็นไวรัลเล็กๆ ที่ผู้ใช้งานตั้งกระทู้ถามและถูกพูดถึงในโลกโซเชียลมีเดียอยู่เรื่อยๆ ซึ่งส่งผลดีทั้งต่อแอปพลิเคชั่นที่ไม่ห่างหายไปจากหน้าฟีดของผู้คน แถมยังดีต่อผู้ใช้งานที่รู้สึกสนุก ตื่นเต้นและเกิดแรงจูงใจอยากเข้าไปใช้อย่างต่อเนื่อง

 

พลังของ ‘ความสนุก’

อย่างไรก็ตาม Duolingo ไม่ได้ทำการตลาดรูปแบบนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะช่วงแรกๆ คอนเทนต์ส่วนใหญ่ยังเป็นวิดีโอสอนภาษาที่เป็นทางการมากกว่าในปัจจุบัน แต่ดูเหมือนวิธีนั้นจะไม่ได้ผลที่ดีนัก 

หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของ Duo นี้ คือมีมที่ผู้ใช้งานล้อเลียนในอินเทอร์เน็ตอย่าง Evil Duo Owl มีมนกฮูก Duo สุดโหดที่กำลังยืนข่มขู่ให้คุณเข้าเรียน ซึ่งแทนที่ Duolingo จะปล่อยให้มีมนี้ผ่านหน้าฟีดไป แต่พวกเขากลับนำมาปรับใช้กับกลยุทธ์ทางการตลาดของตัวเอง แถมยังขยับขยายไปไกลกว่าเรื่องมีมอีกด้วย 

จนในที่สุด Duo ก็เจอทางที่ใช่ โดยเปลี่ยนภาพจำจากคาแรกเตอร์นกฮูกเนิร์ดๆ มาเป็น ‘เพื่อน’ ขี้วีน ขี้นอยด์ที่คอยตามจิกไม่ให้คุณขาดเรียน จนบางทีก็รู้สึกเหมือนโหลดแอปฯ แล้วมีพลังงานบางอย่างคอยตามติดชีวิตการศึกษาของเราในทุกๆ วัน

หนึ่งในช่องทางที่ประสบความสำเร็จมากๆ ของ Duolingo คือ TikTok ที่มีทั้งยอดเข้าชมและคอมเมนต์อย่างล้นหลาม จนกลายเป็นไวรัลอยู่บ่อยๆ แม้พื้นฐานจะเป็นนกแสนเกรี้ยวกราด แต่คอนเทนต์ของ Duo ได้ปรับตัวตามวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ด้วยเช่นกัน อย่าง Duo ในญี่ปุ่นจะผสมผสานความน่ารักเข้าไปด้วย ส่วน Duo ในประเทศไทยจะค่อนข้างขี้เล่นมากกว่า ซึ่งล่าสุดเพิ่งจะมีแอคเคาต์ TikTok ชื่อว่า Duolingo Thailand และคลิปมาสคอต Duo ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะถือปืนฉีดน้ำออกไปเที่ยว (ตามหาคนขาดเรียน) ในช่วงสงกรานต์ ไปจนถึงคลิปสวมสไบออกไปวัด เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลใจให้ทุกคนกลับมาเรียนอย่างสม่ำเสมอ และแน่นอนว่าทุกคลิปมาพร้อมกับเพลงที่กำลังฮิตติดเทรนด์ TikTok ในบ้านเรา

Duolingo Thailand

แม้เนื้อหาในโลกโซเชียลมีเดียจะค่อนข้างฉีกกรอบของแอปฯ ด้านการศึกษา ด้วยความขี้เล่นและไม่เป็นทางการ แต่วิธีนี้ไม่ได้ฉีกไปจากตัวตนและความตั้งใจแรกของ Duolingo นั่นคือ การทำให้ภาษาเป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัว

Duolingo. ภาพจาก TikTok

“พอจะมีเวลาซัก 2-3 นาทีไหมเอ่ย?”
“นี่ก็ผ่านมา 3 วันแล้วน้า…”
“คุณทำให้ Duo เศร้าใจ”

แม้ข้อความเหล่านี้จะทำให้เราสะดุ้งอยู่บ่อยๆ แต่สะท้อนให้เห็นว่าเจ้า Duo เข้าใจธรรมชาติและหัวใจหลักของการเรียนรู้ภาษาอย่างถ่องแท้ นั่นคือต่อเนื่องและความสม่ำเสมอ ซึ่งเจ้านก Duo กำลังทำหน้าที่นั้นอย่างแข็งขัน โดยใช้ ‘พลังของความสนุก’ ปะปนกับ ‘ความจิกกัด’ เบาๆ แต่ก็ทำให้เรายิ้มได้เสมอ

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline