svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

30 มีนาคม สุขสันต์วันเกิด "วินเซนต์ แวน โก๊ะ" จิตรกรเอก ผู้มีชีวิตอันแสนสลด

29 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

30 มีนาคม สุขสันต์วันเกิด "วินเซนต์ แวน โก๊ะ" ผู้มีชะตากรรมชีวิตแสนสลด จิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของกาลเวลา กับงานศิลปะสุดลึกซึ้ง ช่วงศตวรรษที่ 20

"ฟินเซนต์ วิลเลิม ฟัน โคค" (Vincent Willem van Gogh) หรือที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อ "วินเซนต์ แวน โก๊ะ" เป็นจิตรกรชาวดัตช์ หรือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในผู้มีชื่อเสียงและอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก เขาสร้างสรรค์งานศิลป์กว่า 2,100 ชิ้นในเวลาเพียงสิบปีกว่า ในจำนวนนี้เป็นภาพสีน้ำมัน 860 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตขึ้นในสองปีสุดท้ายของชีวิตเขา

ผลงานของเขามีทั้งภาพภูมิประเทศ ภาพนิ่ง ภาพคนเหมือน และภาพเหมือนตนเอง ซึ่งล้วนมีลักษณะเด่นเป็นสีสันจัดจ้านและงานพู่กันที่ฉวัดเฉวียนแฝงอารมณ์ชวนประทับใจอันช่วยสร้างรากฐานให้แก่ศิลปะสมัยใหม่ แต่ชีวิตเขาช่างรัดทด เมื่อทนทุกข์เพราะไข้ใจและความจนมานานหลายปี ได้ปลิดชีวิตตนเองในขระที่มีอายุ 37 ปี

"วินเซนต์ แวน โก๊ะ" เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ.1853 ตรงกับปี พ.ศ.2396 หรือเมื่อ 171 ปีที่แล้ว ที่เมืองซึนเดิร์ต (Zundert) ในภูมิภาคบราแบนต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเมืองที่ติดกับชายแดนเบลเยียม มีพ่อเป็นนักบวชในศาสนาคริสต์ มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด 6 คน 
วินเซนต์ แวน โก๊ะ

ครอบครัวของ "แวน โก๊ะ" เป็นชนชั้นกลางที่มีชีวิตแบบแคบ ๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เขาเป็นเด็กหนุ่มที่ดูเงอะงะ ไม่คล่องแคล่วเหมือนคนมีปมด้อย ค่อนข้างใจน้อย เขามีนิสัยชอบเก็บตัวและมีอาการของโรควิตกกังวล และยังมีอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย อ่อนโยน มีความเมตตาต่อคนทุกข์ยาก ทำให้ทุกคนมองเขาว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ น่ารำคาญ

เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาได้เข้าทำงานที่ห้องภาพแห่งหนึ่งที่เดอะเฮก กับญาติที่ทำงานด้านศิลปะ และเมื่อเขามีอายุได้ 18 ปี เขาก็ถูกส่งตัวไปยังห้องภาพที่สาขาปารีส ด้วยความที่เขาเป็นคนซื่อและความเบื่อหน่ายที่ทางห้องภาพเอารูปเลว ๆ มาหลอกขายกับคนที่ไม่รู้จักศิลปะ เขาถึงกับบอกให้ลูกค้าไม่ให้ซื้อภาพนั้น จนกระทั่งทางร้านไม่พอใจไล่เขาออกจากงานในที่สุด

ชีวิตพลิกผันไปศึกษาด้านศาสนา 
หลังจากถูกไล่ออกจากงาน "แวน โก๊ะ" หันไปศึกษาทางศาสนาอย่างจริงจัง กระทั่งสอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยศาสนาที่นครอัมสเตอร์ดัม แต่ในเวลาต่อมาพบว่าตัวเขาเองไม่ได้อะไรอย่างที่ตั้งใจไว้ จึงเลิกเรียน ย้ายไปอยู่ในเหมืองถ่านหินในตำบลบอรีนาฌ เพื่อเทศนาสั่งสอนและช่วยเหลือคนทุกข์ยากในเหมืองนั้นโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย 

เขาอุทิศเงินจำนวนหนึ่งให้กับคนทุกข์ยากโดยที่ตนเองมีเงินใช้อย่างจำกัด และต้องกินเศษขนมปัง ทำให้ร่างกายผอมลงและเป็นพิษไข้ เพราะการบริโภคที่ผิดอนามัยและความหนาวเหน็บจากกองไฟกองเล็กที่ไม่อาจสู้กับความหนาวเย็นของอากาศได้ ทำให้ความงก ๆ เงิ่น ๆ ของเขามีมากยิ่งขึ้น
30 มีนาคม สุขสันต์วันเกิด "วินเซนต์ แวน โก๊ะ" จิตรกรเอก ผู้มีชีวิตอันแสนสลด

ศิลปะคือทางสว่างของ "แวน โก๊ะ"
ในปี ค.ศ. 1880 "แวน โก๊ะ" เขียนจดหมายไปบอก "เตโอ" น้องชายของเขาว่า ค้นพบศิลปะคือทุกสิ่งทุกอย่างของเขา และเข้ามาแทนที่สิ่งอื่น ๆ จนหมด เขาใช้เวลาเพื่อศึกษามันด้วยตนเองอย่างจริงจัง โดยก่อนหน้านั้นเขาเคยเขียนรูปมาบ้างแต่ไม่จริงจังเท่าไหร่ แต่ต่อจากนี้ไป ศิลปะคือชีวิตจิตใจของเขา 

ในปี ค.ศ. 1881 "แวน โก๊ะ" ย้ายกลับไปอยู่บ้านเกิดเมืองนอนกับบิดามารดา เขาได้ แตโอ น้องชาย คอยสนับสนุนทางการเงิน เขากับน้องติดต่อกันมาเสมอทางจดหมาย ผลงานชิ้นแรก ๆ ของเขาส่วนใหญ่เป็นภาพนิ่งและภาพแสดงชนชั้นกรรมกร แต่มีไม่มากที่ใช้สีสันสดใส ต่างจากผลงานชิ้นหลัง ๆ 
Sunflowers ปี ค.ศ. 1888
ในปีค.ศ. 1886 เขาย้ายไปอยู่ปารีส ได้พบเจอสมาชิกกลุ่มล้ำยุค เช่น Émile Bernard กับปอล โกแก็ง ที่กำลังมีปฏิกิริยาตอบโต้ประเด็นอ่อนไหวเรื่องลัทธิประทับใจ เมื่องานของ "แวน โก๊ะ" ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ก็สร้างรูปโฉมใหม่ให้แก่งานภาพนิ่งและภาพภูมิประเทศท้องถิ่นของตัว โดยให้มีสีสันกระจ่างใสขึ้น เป็นรูปแบบที่ใช้งานจริงอย่างเต็มที่

ในช่วงที่เขาพำนักอยู่ ณ เมืองอาร์ล ทางภาคใต้ของฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1888 ช่วงนี้เองที่เขาขยายหัวเรื่องสำหรับงานของตนออกไปเป็นภาพชุดต้นมะกอก ทุ่งสาลี และทานตะวัน

เขาประสบปัญหาทางสภาพจิตใจอยู่หลายช่วง ซ้ำยังละเลยสุขภาพทางกาย ไม่กินไม่นอนตามสมควร ทั้งดื่มสุราอย่างหนัก ครั้งหนึ่ง เขามีปากเสียงกับ"โกแก็ง" แล้วคว้ามีดโกนไล่ตามโกแก็ง ก่อนเฉือนหูซ้ายของตัวเอง ความปั่นป่วนทางใจทำให้เขาต้องอยู่โรงพยาบาลจิตเวชหลายครั้ง เช่นครั้งที่เขาพักอยู่ในแซ็ง เรมี เดอ พรอว็องส์ 

เมื่อออกโรงพยาบาลแล้ว เขาย้ายไปอยู่ Auberge Ravoux ที่โอแวร์ซูว์รวซใกล้กับปารีส และอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์แผนโฮมีโอพาธีนาม Paul Gachet 

ภาวะซึมเศร้าของ "แวน โก๊ะ" ทำให้ใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางสายศิลปะอย่างลำบากยากแค้น กระทั่งในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1890 เขาใช้ปืนลูกโม่ยิงอกตนเอง บาดแผลครั้งนี้ทำให้เขาเสียชีวิตในอีกสองวันถัดมา หลังจากการเขียน "รูปทางสามแพร่ง" (Wheat Field with Crows) โดยงานชิ้นนี้อาจจะสื่อถึงการหาทางออกให้กับของชีวิตของเขาเอง ที่เปรียบเสมือนทาง 3 สายที่มาบรรจบกันทำให้เลือกไม่ถูกว่าจะไปทางใดต่อ ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้ายของเขา

การเสียชีวิตของ "แวน โก๊ะ" สร้างความเศร้าโศกเสียใจของเพื่อน ๆ ศพของเขาถูกฝังไว้ในสุสานเล็ก ๆ ที่เมืองโอแวร์ซูว์รวซ ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส

ผลงานได้รับการยอมรับหลังเสียชีวิต
ตอนที่ "แวน โก๊ะ" มีชีวิต ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ถูกมองเป็นคนบ้า คนล้มเหลว แต่พอเสียชีวิต เขากลับโด่งดัง อยู่ในภาพจำของสาธารณชนในฐานะอัจฉริยบุคคลผู้ถูกมองข้าม ถึงกับมีคำกล่าวว่า "เขาเป็นศิลปิน ผู้ซึ่งวาทกรรมเรื่องความบ้าคลั่งและความสร้างสรรค์มีเส้นคั่นอยู่บาง ๆ" (where discourses on madness and creativity converge)

เกียรติยศเริ่มหลั่งไหลมาถึง "แวน โก๊ะ" ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เนื่องจากองค์ประกอบในรูปแบบงานวาดเขียนของเขากลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ผลงานของเขาประสบความสำเร็จทางการค้าพาณิชย์อย่างกว้างขวาง ทุกวันนี้ เขาเป็นที่จดจำในฐานะจิตรกรคนสำคัญผู้มีชีวิตอันชวนสลด บุคลิกภาพที่เป็นปัญหาของเขา กลายเป็นสัญลักษณ์ของศิลปินระทม (tortured artist) ในอุดมคติแนวสุขนาฏกรรม

ผลงานเด่น "วินเซนต์ แวน โก๊ะ"
"แวน โก๊ะ" ถือเป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นจิตรกรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกาลเวลา ผลงานของเขานั้นเป็นที่น่าจับตามองสำหรับความงามที่มีลายเส้นที่หยาบ ความตรงไปตรงมาทางอารมณ์และด้วยการใช้สีที่ร้อนแรงที่แสดงออกถึงความลึกซึ้งต่อศิลปะในช่วงศตวรรษที่ 20 โดย 10 ผลงานศิลปะชิ้นเอกของเขา ได้แก่

  • 1. The Starry Night ปี ค.ศ. 1889
  • 2. Sunflowers ปี ค.ศ. 1888
  • 3. Irises ปี ค.ศ.1889
  • 4. Portrait of Dr. Gachet ปี ค.ศ. 1890
  • 5. Café Terrace at Night ปี ค.ศ 1888
  • 6. Self-Portrait with Bandaged Ear ปี ค.ศ. 1889
  • 7. The Potato Eaters ปี ค.ศ. 1885
  • 8. Bedroom in Arles ปี ค.ศ. 1888
  • 9. Wheatfield with Cypresses ปี ค.ศ. 1889
  • 10. Almond Blossoms ปี ค.ศ. 1890

The Starry Night ปี ค.ศ. 1889
ขอบคุณข้อมูลและภาพ :

logoline