svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ดัชนีความร้อน (Heat Index) และอุณหภูมิอากาศจริง สองค่าความเหมือนที่แตกต่าง

22 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำไมเราจึงรู้สึกร้อนมากกว่าที่พยากรณ์บอก!! รู้จัก “ดัชนีความร้อน (Heat Index)” และ “อุณหภูมิอากาศจริง (Air Temperature)” หลังมีคำเตือนวันนี้ค่าดัชนีความร้อนอยู่ในเกณฑ์ “อันตรายมาก” ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเด็ดขาด

สภาพอากาศที่ร้อนจัดและอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพแล้ว ล่าสุด สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร แจ้งเตือน!! ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ประจำวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2567 อยู่ในเกณฑ์ “อันตรายมาก” ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเด็ดขาด

ดัชนีความร้อน (Heat Index) และอุณหภูมิอากาศจริง สองค่าความเหมือนที่แตกต่าง

มีข้อมูลจากหลายหน่วยงานในระดับโลก พบว่า สถานการณ์ความร้อนที่มีความรุนแรงมากขึ้นจากอดีตที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และองค์การอนามัยโลก ได้ระบุไว้ว่าสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในอนาคต ผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยที่เกิดจากสภาพอากาศร้อน โดยเฉพาะอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลกระทบต่อสุขภาพทางตรง

เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้นก่อให้เกิดการสูญเสียน้ำในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยที่สัมพันธ์ กับความร้อน (Heat-related illness) อาทิ ตะคริว เพลียแดด และอาจมีความรุนแรงจนเสียชีวิตด้วยโรคลมแดด (Heat stroke) เป็นต้น รวมถึงทำให้เกิดโรคไหลเวียนโลหิต หลอดเลือดหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ โรคไต และสุขภาพจิต (ความเครียด วิตกกังวล) ตามมาได้ โดยกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากความร้อน ได้แก่ กลุ่มที่ทำงนกลางแจ้ง (เกษตรกร คนงานก่อสร้างตำรวจจราจร) เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยอุณหภูมิประเทศไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มของอุณหภูมิเฉลี่ย อุณหภูมิสูงสุด และอุณหภูมิต่ำสุด เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะร้อนขึ้น และอาจก่อให้เกิดปัญหาสำคัญในอนาคตหากไม่ดำเนินการใด

ดัชนีความร้อน (Heat Index) และอุณหภูมิอากาศจริง สองค่าความเหมือนที่แตกต่าง

ทำไมเราจึงรู้สึกร้อนมากกว่าที่พยากรณ์บอก!!

หลายคนน่าจะคิดแบบนี้ เพราะรู้สึกว่าอากาศร้อนมากเกินกว่าที่อุณหภูมิที่วัดได้ นั่นเป็นเพราะ อุณหภูมิอากาศจริง (Air Temperature) ที่วัดค่าได้ กับความรู้สึกร้อน-เย็นที่ผิวหนังสัมผัสได้  “ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน” ดังนั้น จึงไม่ได้สัมพันธ์กันแบบตรงไปตรงมา

สำหรับ “อุณหภูมิอากาศจริง (Air Temperature)” เป็นค่าที่แสดงถึงระดับพลังงานจลน์ของอนุภาคสสาร ทั้งดิน น้ำ อากาศ สิ่งของต่างๆ หรือแม้แต่ร่างกายของเราล้วน ประกอบไปด้วยอนุภาคที่สั่นไหวและเคลื่อนที่ไปมาถ้าอนุภาคเคลื่อนที่เร็วแสดงว่าพลังงานมาก อุณหภูมิก็สูง ถ้าเคลื่อนไหวช้า พลังงานน้อยอุณหภูมิก็ต่ำ เราสามารถวัดค่าพลังงานออกมาเป็นตัวเลขในหน่วยต่างๆ เช่น เซลเซียส ฟาเรนไฮต์ ฯลฯ

ในขณะที่ “ความรู้สึกร้อน-เย็น” เป็นเรื่องของการรับรู้ (Perception) ที่สมองตีความจากประสาทสัมผัสที่ถูกกระตุ้นจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ การถ่ายเทพลังานระหว่างวัตถุที่มีอุณหภูมิแตกต่างจากร่างกาย ทำให้เรารู้สึกร้อน-เย็นขึ้นมา แต่ความแตกต่างระหว่าง “อุณหภูมิของร่างกาย” กับ “อุณหภูมิอากาศ” ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อความรู้สึกร้อน-เย็น อีกค่าที่ต้องรู้คือ “ความชื้น” ซึ่งเป็นปัจจัยหลักอีกอย่างที่มีผลต่อความรู้สึกร้อนหรือเย็น โดยทั่วไปพื้นที่ที่อากาศขึ้นจะรู้สึกร้อนกว่าพื้นที่ที่อากาศแห้งเมื่ออุณหภูมิเท่ากัน

ดัชนีความร้อน (Heat Index, HI)

ตามคำอธิบายขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA) หมายถึง อุณหภูมิที่ร่างกายมนุษย์รู้สึกตามความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิอากาศและความชื้น หรือก็คือ อุณหภูมิที่ร่างกายของเรารับรู้ได้ในขณะนั้นๆ

ทั้งนี้ ดัชนีความร้อน ได้จากการนำอุณหภูมิของอากาศที่วัดได้จริง (Air Temperature) และค่าความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ (Relative Humidity) มาวิเคราะห์หาค่าความสัมพันธ์ด้วยสมการถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis หรือ MRA) ซึ่งเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระ 2 ตัวขึ้นไป กับตัวแปร 1 ตัว ทั้งนี้ NOAA ได้สร้างตารางดัชนีความร้อนเอาไว้ เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถหาค่าดัชนีความร้อนได้ด้วยตัวเอง

โดยปกติแล้ว “ดัชนีความร้อน” จะมีค่าสูงกว่าอุณหภูมิอากาศจริงเสมอ  เนื่องจากความชื้นในอากาศมีผลต่อการระบายความร้อนของร่างกาย กล่าวคือเมื่ออากาศร้อน อุณหภูมิอากาศและความความชื้นสัมพัทธ์สูง เหงื่อที่ถูกขับออกมาจะไม่ระเหย ร่างกายจะรู้สึกเหนอะหนะ และร้อนมากกว่าอุณหภูมิจริง กลับกันในวันที่อุณหภูมิอากาศร้อน แต่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ เหงื่อที่ถูกขับออกมาระเหยได้ดี ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลง เราจะรู้สึกร้อนน้อยกว่าอุณหภูมิอากาศจริง

องค์การอนามัยโลก และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ได้ออกประกาศเตือนว่า ดัชนีความร้อนที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ อยู่ที่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่างกายจะอ่อนเพลียจากความร้อน ทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน และเป็นตะคริว หากดัชนีความร้อนอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่างกายมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) และดัชนีความร้อน 43 องศาเซลเซียส ติดกันหลายวันอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะระบบในร่างกายล้มเหลวเนื่องจากอุณหภูมิสูงเกินไป

สำหรับช่วงหน้าร้อนปี 2567 นี้ ดัชนีความร้อนในประเทศไทยร้อนขึ้นเรื่อยๆ อุณหภูมิจากการวัดค่าดีดไปแตะที่ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งดัชนีความร้อน Heat Index มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คนและสัตว์เป็นอย่างมาก ยิ่งคนที่ทำงานกลางแจ้งหรือผู้ใช้ร่างกายมักเกิดอาการลมแดด (Heat Stroke) กันมาก

โดยดัชนีความร้อน (Heat Index) ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แบ่งได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้ 

  • ระดับเฝ้าระวัง : 27-32.9 องศาเซลเซียส (สีเขียว) ทำให้อ่อนเพลียวิงเวียน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความ ออกกำลังกาย หรือการใช้แรงงานกลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อน
  • ระดับเตือนภัย : 33-41.9 องศาเซลเซียส (สีเหลือง) เกิดภาวะตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
  • ระดับอันตราย : 42-51.9 องศาเซลเซียส (สีส้ม) มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
  • ระดับอันตรายมาก : มากกว่า 52 องศาเซลเซียส (สีแดง) เกิดภาวะลมแดด หรือฮีทสโตรก

ดังนั้น ในวันที่ค่าดัชนีอากาศสูงเช่นนี้ ควรสังเกตอาการตนเองบ่อยๆ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรลดกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีความจำเป็น ควรสวมหมวก แว่นกันแดด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ สุรา และน้ำอัดลม

 

logoline