svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เปิดข้อมูล "โรคอิไตอิไต" จาก "แคดเมียม" ร้ายแรงแค่ไหน รักษาได้หรือเปล่า?

05 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดข้อมูล "โรคอิไตอิไต" ต้นเหตุจากรับสารแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย อันตรายมากแค่ไหน อาการเตือนเบื้องต้นเป็นอย่างไร การรักษาทำได้หรือไม่?

จากกรณีพบโรงงาน 3 แห่ง ซุกซ่อนกากแคดเมียมและกากสังกะสี บรรจุเต็มบิ๊กแบ็กเกือบ 1,500 ถุง น้ำหนักร่วมประมาณ 1.5 หมื่นตัน ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งหวั่นว่าจะเกิดอันตรายต่อคนในชุมชนจากสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดแม้จะถูกจัดเก็บในสถานที่มิดชิด ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเร่งติดตามตรวจสุขภาพคนงานที่เหลือและค้นหาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ส่วนผลตรวจสารปนเปื้อนในน้ำโดยกรมควบคุมมลพิษ จะรู้ผลใน 2 สัปดาห์ แต่ผลข้างเคียงก่อนหน้าที่ที่น่ากังวลคืออาการป่วยด้วย "โรคอิไตอิไต"
เปิดข้อมูล \"โรคอิไตอิไต\" จาก \"แคดเมียม\" ร้ายแรงแค่ไหน รักษาได้หรือเปล่า?
  ทำความรู้จักโรคอิไตอิไต  
โรคอิไตอิไต (ญี่ปุ่น: イタイイタイ病 อังกฤษ: Itai-itai disease) เป็นโรคชนิดหนึ่งเกิดจาก "แคดเมียม" พบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น แถบแม่น้ำจินสุ เขตโตยามา ค.ศ.1912 (พ.ศ.2493) ชื่อ "อิไตอิไต" มาจากภาษาญี่ปุ่น ที่มาจากเสียงร้องของผู้ป่วย โดยคำว่า อิไต อิไต แปลว่า โอ๊ย โอ๊ย แสดงถึงความเจ็บปวด

ปมเหตุของ โรคอิไตอิไต ในครั้งนี้ เกิดจากมีการทิ้งขี้แร่จากการทำเหมืองสังกะสีลงในแม่น้ำจินสุเพื่อไปลงทะเล  ซึ่งขี้แร่สังกะสีนี้มีแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ ชาวบ้านแถบนั้นก็ใช้น้ำบริเวณนั้นมาดื่มกินและใช้ในชีวิตประจำวัน

ต่อมาเริ่มสังเกตว่าปลาบริเวณนั้นเริ่มตาย และข้าวและพืชผลที่อาศัยน้ำจากบริเวณนั้นก็ไม่เติบโต รวมถึงการมีชาวบ้านจำนวนมากเจ็บปวดด้วยอาการปวดกระดูกโดยเฉพาะกระดูกสันหลัง เอว และขา เกิดภาวะไตวาย กระดูกผุ และมีเด็กพิการในอัตราสูงผิดปกติ 

จากการสืบทราบภายหลังพบว่า เกิดจากการสะสมพิษของสารโลหะหนักที่ชื่อ แคดเมียม โดยพิษจากแคดเมียมนั้นมีได้ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบสะสม
เปิดข้อมูล \"โรคอิไตอิไต\" จาก \"แคดเมียม\" ร้ายแรงแค่ไหน รักษาได้หรือเปล่า?

ทั้งนี้ โรคอิไตอิไต แบบพิษแบบเฉียบพลัน เกิดได้จากการได้รับพิษอาจเกิดจากอุบัติเหตุการรับประทานสารแคดเมียม หรือการสูดดมฝุ่นควันที่มีแคดเมียม โดยหากสูดดมอาจทำให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ อาจมีอาการคล้ายไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ปวดบวม หรือปอดบวมน้ำ อาการอื่น ๆ อาจระคายเคืองจมูก ไอ ปวดหัว วิงเวียน อ่อนเพลีย ไข้ หนาวสั่น หรือเจ็บหน้าอก การสูดดมผงแคดเมียมปริมาณมากอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตจากภาวะไตวาย นอกจากนี้ยังอาจเกิดผลต่อตับได้ด้วย

หลังเกิดวิกฤตนี้ ญี่ปุ่น ได้สร้างพิพิธภัณฑ์โรคอิไต-อิไตในจังหวัดโทยามะ เพื่อเปิดเผยข้อมูลและให้รู้จัก “ความน่ากลัวของโรคอิไตอิไต” ทำให้ได้ศึกษา “ประวัติศาสตร์การฟื้นฟูบ้านเมือง” การที่ได้เห็นถึงความทุกข์ทรมานอันแสนสาหัสจากโรค "อิไต อิไต" ทำให้มีความคิดที่เข้มแข็งที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง จึงเป็นถ่ายทอดข้อความสำคัญเหล่านี้เกี่ยวกับความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงการมีชีวิตอยู่ สืบต่อกันมา
พิพิธภัณฑฺโรคอิไตอิไต ที่ประเทศญี่ปุ่น

  อาการของ "โรคอิไตอิไต"  
โรคอิไตอิไต จะมีอาการปวดแขน ขา (extremity pain), มีวงแหวนแคดเมียม (yellow ring), ปวดกระดูก(Bone pain), ปวดข้อ (joint pain), มีความผิดปกติที่กระดูกสันหลัง ทำให้มีลักษณะเตี้ย หลังค่อม อาการระยะสุดท้าย ได้แก่ เบื่ออาหารน้ำหนักลด มีความผิดปกติของ เมทาบอลิซึม โดยส่วนใหญ่ เสียชีวิตจากภาวะไตวาย และการเสียสมดุลของเกลือแร่ (Electrolyte Imbalance) มักพบได้ 2 ลักษณะ คือ

  1. ความเป็นพิษเฉียบพลัน จากการหายใจเอาฝุ่น ละอองไอแคดเมียม แล้วมีอาการภายหลังสัมผัส 2-3 ชั่วโมง โดยมีอาการไอ เจ็บหน้าอก เหงื่อออก หนาวสั่นคล้ายอาการติดเชื้อทั่วไป มีอาการระคายเคืองอย่างแรงในปอดหายใจลำบาก ไอ และอ่อนเพลีย
  2. ความเป็นพิษแบบเรื้อรัง ผลกระทบต่อทางเดินหายใจ ไตถูกทำลาย ทำให้เกิดเป็นนิ่วในปัสสาวะได้

ความผิดปรกติของกระดูกจากโรคอิไตอิไต
  การวินิจฉัยโรคอิไตอิไต  
ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากแคดเมียม สามารถไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย โดยใช้วิธีการอย่างเช่น การฉายภาพรังสีทรวงอก ตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด ตรวจปัสสาวะ และเลือด เพื่อหาระดับของแคดเมียมที่อยู่ในร่างกาย 

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดค่ามาตรฐานของแคดเมียมในร่างกายไว้ ดังนี้

  • หากเป็นคนปกติทั่วไปต้องมีระดับแคดเมียมในปัสสาวะ < 2 ไมโครกรัม/กรัม ครีอะตินีน และไม่เกิน 10 ไมโครกรัม/กรัม ครีอะตินีน และต้องมีระดับแคดเมียมในเลือด 5 ไมโครกรัม/ลิตร แต่ไม่เกิน 10 ไมโครกรัม/ลิตร

ผลกระทบจากโรคอิไตอิไต  

  การรักษา โรคอิไตอิไต  
การรักษาโรคอิไตอิไต แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ อาการพิษแบบเฉียบพลัน และ อาการพิษแบบเรื้อรัง ซึ่งวิธีการรักษาในแต่ละประเภทก็แตกต่างกันออกไป ดังนี้

อาการพิษแบบเฉียบพลัน 

  • หากผู้ป่วยได้รับพิษแคดเมียมผ่านทางการหายใจ ควรนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีสารแคดเมียมอยู่ในอากาศและนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ซึ่งเมื่อถึงมือแพทย์แล้ว แพทย์จะทำการรักษาอาการปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) และจะให้แคลเซียมไดโซเดียมอีดีเทต (Calcium disodium edetate) เช่น อีดีทีเอ (EDTA) ทางหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ในปริมาณ 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 1 สัปดาห์ และอาจให้ซ้ำอีกครั้งได้  
  • หากผู้ป่วยได้รับพิษแคดเมียมผ่านทางการรับประทาน ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ผู้ช่วยเหลือให้นมหรือไข่ที่ตีแล้วแก่ผู้ป่วย เพื่อลดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร หลังจากนั้นให้นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล แพทย์จะให้ทำการถ่ายท้องด้วย Fleet\'s Phosphosoda (เจือจาง 1:4 ด้วยน้ำ) 30-60 มิลลิลิตร เพื่อลดการดูดซึมแคดเมียม
  • หากอาการยังไม่ดีขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องให้แคลเซียมไดโซเดียมอีดีเทต (Calcium disodium edetate) เช่น อีดีทีเอ (EDTA) เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ได้รับพิษแคดเมียมทางการหายใจ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงจะเริ่มรักษาอาการของตับ และไตที่ถูกทำลายต่อไป

อาการพิษแบบเรื้อรัง 

  • หากผู้ป่วยได้รับพิษแคดเมียมและมีอาการเรื้อรังก็อาจจะทำให้อาการกระดูกเสื่อมและผิดรูปไปได้ ซึ่งสามารถด้วยวิธีการรักษาแบบ ไคโรแพรคติก (Chiropractic) ซึ่งเป็นการจัดกระดูกสันหลังที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคให้กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม วิธีนี้จะทำให้อาการของโรคดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากพิษเรื้อรังนั้นเข้าสู่ระบบหายใจก็จะทำให้ปอดถูกทำลายอย่างรวดเร็วจนเกิดอาการปอดอักเสบเรื้อรังหรือเฉียบพลันได้
  • อาการในขั้นนี้จะมีทั้งการไอแห้ง ๆ อาการแพ้ ระคายเคืองบริเวณลำคอและโพรงจมูก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หนาวสั่น และเจ็บหน้าอก และหากเข้าขั้นวิกฤตก็อาจจะถึงขนาดที่ตับหรือไตวายเฉียบพลันได้ และย่อมส่งผลถึงการติดเชื้อในกระแสโลหิต และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
  • ดังนั้นหากเริ่มมีอาการเริ่มแรกของอาการปอดอักเสบควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาต่อไป

  การป้องกัน โรคอิไตอิไต  
โรคอิไตอิไต เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารแคดเมียมโดยตรงไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงตัวเราเท่านั้นที่ทำให้หลีกไกลจากสารแคดเมียมได้ แต่กลุ่มอุตสาหกรรมก็ต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบอย่างจริงจังเช่นกัน 

วิธีที่ดีที่สุดก็คือการลดปริมาณการใช้สารแคดเมียม หรือใช้สารทดแทนในกรณีที่ทำได้ และควรหลีกเลี่ยงอาหารและน้ำ หรืออยู่ในบริเวณที่มีสารแคดเมียม งดใช้ภาชนะ วัสดุหรือสิ่งของที่มีแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ 

หากต้องเข้าไปอยู่ใกล้บริเวณที่มีสารแคดเมียมกระจายอยู่ในอาการก็ควรใช้หน้ากากป้องกันสารพิษ เพื่อป้องกันพิษจากแคดเมียม
ป้องกันสารแคดเมียม ด้วยหน้ากากป้องกันสารพิษ ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ :

logoline