svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ศาลปานามาเปิดพิจารณาคดีฟอกเงินฉาวสะเทือนโลก “Panama Papers”

09 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลปานามาเปิดการพิจารณาคดีผู้ต้องหา 27 คน ที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินอื้อฉาวครั้งมโหฬาร หลังมีการเปิดโปงเอกสารปานามา“Panama Papers” เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ที่แฉแหล่งซุกซ่อนทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของเหล่ามหาเศรษฐีที่รวยที่สุดและผู้นำของโลก

ศาลอาญาของปานามาเริ่มเปิดการพิจารณาคดีฟอกเงินเมื่อวันจันทร์ (8 เมษายน 2567) ที่มีผู้ต้องหา 27 คน ซึ่งรวมถึงเจ้าของบริษัทกฎหมาย มอสแซค-ฟอนเซกา (Mossack-Fonseca) บริษัทนี้เป็นศูนย์กลางการรั่วไหลของเอกสารลับทางการเงินครั้งใหญ่มากถึง 11.5 ล้านฉบับ ที่เผยให้เห็นกระบวนการฟอกเงินและเครือข่ายการหลีกเลี่ยงภาษีในวงกว้างระดับโลกเมื่อปี 2559

ผู้ต้องหาในคดีนี้มีทั้ง เจอร์เกน มอสแซค และรามอน ฟอนเซกา โมรา ผู้ก่อตั้งบริษัทมอสแซค-ฟอนเซกา ซึ่งถูกปิดตัวในปี 2561 และอดีตตัวแทน, ทนายความ หรือ อดีตพนักงานของบริษัท โดยทั้งหมดถูกตั้งข้อหาฟอกเงิน

มอสแซค วัย 76 ปี เข้าให้การในศาลในวันจันทร์ และปฏิเสธว่า ไม่ได้กระทำผิดใด ๆ ส่วนฟอนเซกา วัย 71 ปี รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในปานามา  ศาลในกรุงปานามาซิตี

การพิจารณาคดีเริ่มขึ้นได้หลังจากถูกเลื่อนบ่อยครั้ง โดยในปี 2560 ทั้งบริษัทและพนักงานที่ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางกฎหมายใด ๆ และบริษัทอ้างว่าตกเป็นเหยื่อของการแฮ็กคอมพิวเตอร์ และข้อมูลที่รั่วไหลถูกบิดเบือน

หากผู้ต้องหาทั้งหมดถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริง นายมอสแซค และนายฟอนเซกา อาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึงคนละ 12 ปี

การพิจารณาคดีนี้มุ่งสอบสวนข้อกล่าวหาว่า บริษัทมอสแซค-ฟอนเซกา ตั้งบริษัทบังหน้าหลายแห่งเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ในปานามา ด้วยเงินจากเครือข่ายคอร์รัปชันขนาดใหญ่ในบราซิล ที่รู้จักในชื่อคดี “Car Wash” แต่ฟอนเซกา บอกว่า บริษัทไม่มีอำนาจควบคุมว่าลูกค้าจะใช้บริษัทนอกอาณาเขต ที่ตั้งขึ้นให้พวกเขาอย่างไร

ก่อนหน้านี้มอสแซคและฟอนเซกาได้รับการตัดสินให้พ้นผิดในข้อหาอื่น ๆ ในปี 2565 โดยการพิจารณาคดีมีความยุ่งยากซับซ้อนว่าเป็นการกระทำผิดทางอาญาในปานามาภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้นหรือไม่ ซึ่งกฎหมายฟอกเงินยังไม่มีการบังคับใช้ในสมัยนั้น  เจอร์เกน มอสแซค

  •  จุดเริ่มต้นของคดี

เอกสารลับทางการเงินรวม 11.5 ล้านฉบับของบริษัทมอสแซค-ฟอนเซกา ถูกรั่วไหลถึงหนังสือพิมพ์ ซุดดอยช์ เซตุง ของเยอรมนี และถูกส่งต่อให้กับเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ)  หลังจากนั้น ICIJ เปิดเผยเอกสารลับเหล่านี้ผ่านทางเวบไซต์ และกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ เอกสารปานามา (Panama Papers)

เอกสารดังกล่าวมีข้อมูลของลูกค้ามากกว่า 14,000 ราย และบริษัทบังหน้ากว่า 214,000 แห่ง และรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินของบรรดามหาเศรษฐี นักการเมือง ผู้นำประเทศและรัฐบาล และผู้นำระดับโลก รวมไปถึงนักกีฬาชื่อดัง  เอกสารเผยให้เห็นว่า แหล่งหลบเลี่ยงภาษี อย่าง ปานามา และหมู่เกาะเวอร์จิน ไอแลนด์ ถูกมหาเศรษฐี และผู้ทรงอิทธิพล ใช้เป็นแหล่งซุกซ่อนทรัพย์สินและหลีกเลี่ยงภาษีได้อย่างไร

  • ผลกระทบจากการเปิดโปงครั้งใหญ่


เอกสารปานามาชุดนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนที่ทำให้นายกรัฐมนตรีซิกมุนดูร์ เดวิด กุนน์ล็อกซอน ของไอร์แลนด์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง และนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟ ของปากีสถาน ในขณะนั้นถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต หลังจากมีรายละเอียดทางการเงินของเขาในเอกสารดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบและกระแสวิจารณ์ต่อผู้นำอาร์เจนตินาและยูเครน นักการเมืองจีน และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เป็นต้น

และอัยการของสหรัฐฯ กล่าวหาว่า บริษัทมอสแซก-ฟอนเซกา สมรู้ร่วมคิดหลบเลี่ยงกฎหมายของสหารัฐฯ เพื่อช่วยเหลือในการปกปิดแหล่งทรัพย์สินของลูกค้าในสหรัฐฯ และหลีกเลี่ยงการเสียภาษีแก่กรมสรรพากรขอสหรัฐฯ

เรื่องอื้อฉาวครั้งนั้นทำให้ปานามาพยายามปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งมีความคืบหน้าในการปราบปรามการฟอกเงินและเครือข่ายการเงินสนับสนุนการก่อการร้าย แต่จนถึงขณะนี้ยังคงติดอยู่ในรายชื่อแหล่งหลบเลี่ยงภาษีในบัญชีดำของสหภาพยุโรป

logoline