svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทอ่อนรั้งอันดับ 6 ในภูมิภาค ! สาเหตุเกิดจากอะไร

21 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีอยุธยาประเมินเงินบาท เคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จับตาเงินเฟ้อ PCE เดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ – การประชุมบีโอเจ-สงครามในตะวันออกกลาง เปิดสถิติตั้งแต่ 1 เม.ย.-19 เม.ย. เงินบาทอ่อนรั้งอันดับ 6 ในภูมิภาค

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation STORY ว่า  เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ   36.50-37.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เกาะติดตัวเลขเงินเฟ้อ PCE เดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ และผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมถึงความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจเพิ่มความผันผวนให้กับราคาน้ำมันดิบและทองคำ

โดยในภาพรวมยังให้น้ำหนักไปที่มุมมองต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯเป็นสำคัญ  เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจหลักหลายรายการรวมถึงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดบ่งชี้ถึงความทนทานต่อภาวะดอกเบี้ยสูงได้ดีเกินคาด ทำให้ตลาดปรับมุมมองหลายหนว่าเฟดจะเลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไปเรื่อย ๆ  ซึ่งนักลงทุนคาดว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปี 67 นี้

อย่างไรก็ดี เมื่อใดที่การจ้างงานสหรัฐฯเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรง ตลาดอาจปรับคาดการณ์อีกครั้ง และมองว่ายังมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะทะยอยกลับมาหนุนค่าเงินบาทได้บ้าง

สำหรับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคช่วง 1 เม.ย.-19 เม.ย. พบว่า  สกุลเงินส่วนใหญ่อ่อนค่า นำโดยวอน-เกาหลีใต้ 2.74%  รองลงมาเป็นรูเปียห์ -อินโดนี เซีย  2.54% ดอง-เวียดนาม 2.54 % เปโซ-ฟิลิปปินส์ 2.32% ดอลลาร์- ไต้หวัน  1.67%   บาท-ไทย 1.24% ริงกิต-มาเล เซีย 1.16 %  ดอลลาร์-สิงคโปร์ 1.04%  หยวน-จีน 0.26%  และ รู-อินเดีย 0.11% 

เงินบาทอ่อนรั้งอันดับ 6 ในภูมิภาค ! สาเหตุเกิดจากอะไร

สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าอยู่ในระดับกลาง ๆ หากเทียบภูมิภาคเกิดจาก

  • สกุลเงินต่าง ๆ ถูกกดดันจากการหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯสูงยาวนานกว่าคาด
  • ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์
  •  ต่างชาติขายพันธบัตร 2.8 หมื่นล้านบาท และซื้อหุ้นไทยสุทธิ 3 พันล้านบาท แต่

เงินบาทอ่อนรั้งอันดับ 6 ในภูมิภาค ! สาเหตุเกิดจากอะไร

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ  Nation STORY ว่า  เงินบาทเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกเรื่องเดิม คือ ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด

ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ดูจะชะลอตัวลงช้ากว่าคาด จนทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณย้ำว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างก็คาดว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ไม่ถึง 2 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่ตลาดเคยมองว่า เฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง ตามที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนมีนาคม

นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลให้เงินดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้น ส่วนราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปัจจัยดังกล่าวก็มีส่วนทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นเช่นกัน และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

ส่วนปัจจัยภายใน เงินบาทก็เผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ และแรงขายสินทรัพย์ไทย จากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึง ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทย ที่ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ไทยต่างปรับตัวสูงขึ้น

โดยมองกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 36.50 - 37.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งประเมินว่า หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางปัจจัยกดดันอย่าง ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ) รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้างและกดดันให้เงินบาทเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าต่อได้

นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลที่สูงราว 1.6 หมื่นล้านบาท ตลอดทั้งสัปดาห์ และจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงโซนแนวต้าน 36.90-37 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ต้องจับตาว่า เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้หรือไม่ และการอ่อนค่าผ่านโซนดังกล่าวจะเปิดโอกาสการอ่อนค่าต่อเนื่องทดสอบ 37.25 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พร้อมทั้งคอยจับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ยังมีความเสี่ยงเผชิญการเข้าแทรกแซงของทางการญี่ปุ่น หลังเงินเยนได้อ่อนค่าเข้าใกล้ระดับ 155 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง

ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติเราประเมินว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยอาจยังคงมีอยู่ หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี แรงขายอาจชะลอลงบ้างจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังดัชนี SET ได้ปรับตัวทำจุดต่ำสุดใหม่ ส่วนแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจลดลงไปบ้าง

ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อค่าเงินบาท

  • แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ โดยเฉพาะ BOJ นอกจากนี้ ควรจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่จะกระทบต่อ เงินดอลลาร์ เงินเยนญี่ปุ่น ราคาน้ำมันดิบ และราคาทองคำได้

สำหรับปัจจัยในประเทศ

  • จับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติและโฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ

ไฮไลท์ ข้อมูลเศรษฐกิจ

  • สหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินเฟด ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต-ภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2024 และ อัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดใช้ประกอบการตัดสินใจนโยบายการเงิน
  • ฝั่งยุโรป ควรติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอังกฤษ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของยูโรโซนและอังกฤษ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน
  •  เอเชีย ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของญี่ปุ่น
  •  ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Meta, Microsoft และ Alphabet
logoline