svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

 ส่องอาณาจักร “โออาร์” รุกธุรกิจอะไรบ้าง

19 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โออาร์โตไม่หยุด สยายปีกลงทุนธุรกิจสุขภาพ-ความงาม ชิงเค้กตลาด 3.5 แสนล้าน วันนี้ Nation STORY พาไปดูอาณาจักรธุรกิจโออาร์นอกจากทำปั๊มน้ำมันแล้ว ไปร่วมทุนต่อยอดธุรกิจนอออยล์อะไรกันบ้าง

แตกไลน์ธุรกิจไม่หยุดยั้งสำหรับ  บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก  หรือ OR ล่าสุด ไฟเขียวให้บริษัท มอดูลัสเวนเจอร์ จำกัด (Modulus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ OR ถือหุ้น  100%  จัดตั้งบริษัท โออาร์ เฮลท์ แอนด์ เวลเนส จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเฮลท์แอนด์เวลเนส

โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม (Health and Beauty)ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของ ORHW เพื่อเติมเต็มและสร้างความแข็งแกร่งให้กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับ OR พร้อมก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกด้านสุขภาพและความงามในอนาคต โดยมีแผนจะเปิดสาขาแรกกลางปี 2567

สำหรับตลาดสุขภาพและความงามในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมูลค่ากว่า 3.5 แสนล้านบาทในปี 2565 ประกอบกับเทรนด์ด้านสุขภาพและความงามกำลังเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน 

โดยผู้บริโภคหันมาใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของ OR สำหรับการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเพื่อเป็นการสร้าง New S-Curve และขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่ใส่ใจสุขภาพและความงาม OR จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพทั้งจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และไทย นำเสนอการค้าปลีกรูปแบบใหม่ (New Retail) ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงามที่มีความแปลกใหม่ และมีราคาคุ้มค่า


 ส่องอาณาจักร “โออาร์” รุกธุรกิจอะไรบ้าง
จากการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์สายตาว่า
โออาร์ปรับกลยุทธ์สำคัญของการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Ecosystem กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ หรือ Non-oil ผ่านเครือข่ายสถานีบริการ PTT Station ที่มีกว่า 2,183 แห่งทั่วประเทศ ที่สามารถต่อยอดธุรกิจได้อีกมหาศาล ผลักดันการเติบโตทั้ง Organic Growth และ Inorganic Growth ด้วยการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้แก่ลูกค้ากว่า 2,000 ราย ทั้งกลุ่มอากาศยาน กลุ่มเรือขนส่ง กลุ่มอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาครัฐ  

นอกจากนี้ยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก๊าซปิโตรเลียมเหลวให้แก่ลูกค้าภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง โดยมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค  พร้อมดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นภายใต้แบรนด์ พีทีที ลูบริแคนท์ส อย่างครบวงจร  โดยสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี  

รวมทั้งมีศูนย์บริการยานยนต์ ฟิตออโต้ ที่ให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่น อุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมบริการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์เบื้องต้น เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นใจในทุกการเดินทาง  

นอกจากนี้โออาร์ได้ปรับรูปแบบของสถานีบริการน้ำมันเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยวางแผนที่จะขยายเครือข่าย EV Station PluZ ตั้งเป้าขยายเพิ่มอีก 600-700 แห่ง ในปี 2567 จากปัจจุบันที่มีมากกว่า 700 แห่ง หรือคิดเป็น 1,200 หัวจ่าย

 ส่องอาณาจักร “โออาร์” รุกธุรกิจอะไรบ้าง

สำหรับธุรกิจค้าปลีกของ OR เติบโตและมีการขยายสาขาทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น รวมถึงขยายสาขาไปยังต่างประเทศ  

ธุรกิจร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน เป็นธุรกิจที่ OR ได้สร้างและพัฒนาขึ้นเองมาตั้งแต่   2545 จนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคและยังถือว่าเป็นร้านกาแฟที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทยกว่า 3,000 สาขา  และได้ขยายธุรกิจของ คาเฟ่ อเมซอน  เช่น  กัมพูชา ลาว  เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน โอมาน และซาอุ ดีอาระเบีย

รวมทั้งมีร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ จิฟฟี่ ธุรกิจเครื่องดื่มแบรนด์ เพิร์ลลี่ ที นอกจากนี้ OR ยังเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ เท็กซัส ชิกเก้น ฮั่วเซ่งฮง ติ๋มซำ รวมทั้งยังมีพันธมิตรทางธุรกิจทั้งแบรนด์ระดับโลกและแบรนด์ไทยชั้นนำอีกมากมาย ที่ได้เข้าร่วมให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น

หากย้อนไทม์ไลน์ในช่วงที่ผ่านมาโออาร์ได้ปักหมุดลงทุนธุรกิจที่หลากหลาย

  • ลงทุนสัดส่วน 25% บริษัท  ดุสิตฟู้ดส์ จำกัด  ในวงเงิน 299 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอาหาร ผสานจุดแข็งของกลุ่มดุสิตธานีที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำถึงปลายน้ำ กับความเป็นผู้นำในช่องทางการจำหน่ายในธุรกิจค้าปลีกของ OR ที่สามารถเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้คน เพื่อสร้างโอกาสเติบโตร่วมกันทั้งในและต่างประเทศ
  • ลงทุนในบริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด  ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าแบบอุตสาหกรรม และกิจการร้านสะดวกซักภายใต้แบรนด์ Otteri Wash & Dry ปัจจุบันเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจนี้ มี 670 สาขา ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มเติมทั้งในและนอก พีทีที สเตชั่น โดยถือหุ้น 40% วงเงินประมาณ 1,105 ล้านบาท 
  • เข้าลงทุน 65% ในบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 172 ล้านบาท  ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกาแฟอย่างครบวงจรในประเทศไทย โดยเป็นทั้งผู้จัดหา ผลิต และจัดจำหน่ายเมล็ดกาแฟ และอุปกรณ์สำหรับการเปิดร้านกาแฟ รวมถึงให้บริการดูแลรักษาเครื่องชงกาแฟให้กับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งประกอบธุรกิจร้านกาแฟประเภท Specialty coffee ภายใต้แบรนด์ Pacamara

 

  • จับมือบุญรอดเทรดดิ้ง ตั้งบริษัทร่วมทุนมูลค่า 400 ล้านบาท สำหรับจำหน่ายเครื่องดื่ม (Ready to Drink) ตั้งบริษัทร่วมทุนมูลค่า 400 ล้านบาท  โดยวงเงินของ OR ซึ่งแต่ละบริษัทถือหุ้นไม่เกิน 210 ล้านบาท
  • ลงทุน 480  ล้านบาท ซื้อหุ้น 25% ใน บริษัท คามุ คามุ จำกัด ภายใต้แบรนด์ “คามุที”  ตอบโจทย์ผู้บริโภคชื่นชอบดื่มชา-เครื่องดื่มไลฟ์สไตล์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และสร้างโอกาสในการเติบโตร่วมกันทั้งในและต่างประเทศ
  • เข้าลงทุนบริษัท อิ่มทรัพย์ โกลบอล คูซีน จำกัด  หรือISGC  ในวงเงินไม่เกิน 192ล้านบาท สัดส่วน  25%  เพื่อผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ KOUEN

 

  • ใช้เงินลงทุน 498 ล้านบาท ซื้อหุ้นสัดส่วนไม่เกิน 20% ใน บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด มูลค่าไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งดำเนินกิจการร้านอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” มีจุดเด่นในเรื่องความสดใหม่ของผักที่ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ 
  •  ใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้น “ทราเวลโลก้า” (Traveloka) แพลตฟอร์มออนไลน์สัญชาติอินโดนีเซีย สำหรับจองที่พักและเที่ยวบินออนไลน์ รวมไปถึงบริการทางการเงิน
  •  เข้าลงทุนบริษัท โพลาร์แบร์มิชชั่น จำกัด หรือ  freshket แพลตฟอร์มจำหน่ายวัตถุดิบอาหารออนไลน์ครบวงจร  เพื่อเป็นศูนย์รวมสินค้าเกษตรและวัตถุดิบคุณภาพจากเกษตรกรและซัพพลายเออร์ใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท

 

  • โออาร์ร่วมกับ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหา ชน) หรือ BBIK ตั้งบริษัทร่วมทุนร่วมทุนใหม่ คือ ORBIT Digital เพื่อทำธุรกิจด้านดิจิทัล ทั้งนวัตกรรม IT และ Big Data โดยใช้งบลงทุน 50 ล้านบาท  โดย OR จะถือหุ้น 40%  ขณะที่  BBIK ผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีถือหุ้นอีก 60%
  • ร่วมกับบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BAFS ตั้งบริษัทร่วมทุน คือ บริษัท โกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จํากัด (GAA) มีทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท โดย  OR ถือหุ้นสัดส่วน 45%  BAFS ถือหุ้นสัดส่วน 55% มูลค่าการลงทุนประมาณ 2,300 ล้านบาท ซึ่ง OR จะลงทุนในวงเงินไม่เกิน 545.40ล้านบาท เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพในการแข่งขันและเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการเติมนํ้ามัน อากาศยานรองรับการเติบโตของ EEC
  • จัดตั้งบริษัทร่วมทุน  ชื่อบริษัท Phnom Penh Aviation Fuel Service Co., Ltd. (PPAFS)  เพื่อประกอบการระบบบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน สนามบิน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ถือหุ้น  33.33%  โดยเงินลงทุนในส่วนของ OR จะอยู่ภายใน วงเงินไม่เกิน 18.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  •  จับมือกับ  กองทุน 500 Startups   เปิดตัว ORZON Ventures ซึ่งเป็นกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) มีวัตถุประสงค์เป็น Venture Capital เพื่อเข้าลงทุนในบริษัท Start-up ในประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งบลงทุนกว่า 1.5 พันล้าน เพื่อแสวงหาโอกาสในการสร้างธุรกิจ New SCurve ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ในการสร้างความแข็งแกร่งและต่อยอดธุรกิจของ OR  

โออาร์เริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 11 ก.พ. 2564   ด้วยราคา IPO ที่ 18 บาท คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาเสนอขาย (IPO) ที่ 208,980 ล้านบาท   ซึ่ง ณ วันที่ 11 เม.ย. มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 219,600 ล้านบาท โดยผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรกประกอบด้วย

1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 9,000,000,000 หุ้น สัดส่วน 75.00%

2.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 363,593,369 หุ้น สัดส่วน 3.03%

3.กระทรวงการคลัง 153,349,808 หุ้น สัดส่วน 1.28%

4.SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED  96,274,665  หุ้น สัดส่วน 0.80%

5.สำนักงานประกันสังคม 68,257,211 หุ้น สัดส่วน 0.57%

6. STATE STREET EUROPE LIMITED 67,707,624 หุ้น สัดส่วน 0.56%

7. สหกรณ์ออมทรัพย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด  54,097,100 หุ้น สัดส่วน 0.45%

8. นายวีรพัฒน์ พูนศักดิ์อุดมสิน 29,013,500 หุ้น สัดส่วน 0.24%

9. ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด 28,601,000 หุ้น สัดส่วน  0.24%

10. สหกรณ์ออมทรัพย์ สหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง จำกัด          28,503,800 หุ้น สัดส่วน 0.24%

รายได้รวม

  • ปี 62 อยู่ที่ 583,208.75  ล้านบาท
  • ปี 63 อยู่ที่ 432,848.96 ล้านบาท
  • ปี 64 อยู่ที่ 515,279.67 ล้านบาท
  • ปี 65 อยู่ที่ 793,418.24 ล้านบาท
  • ปี 66 อยู่ที่ 774,423.18 ล้านบาท

กำไรสุทธิ

  • ปี 62 อยู่ที่ 10,895.81 ล้านบาท
  • ปี 63 อยู่ที่ 8,791.07 ล้านบาท
  • ปี 64อยู่ที่  11,474.03 ล้านบาท
  • ปี 65 อยู่ที่  10,370.40 ล้านบาท
  • ปี 66 อยู่ที่  11,094.07 ล้านบาท

ด้วยก้าวย่างการลงทุน ที่ตั้งงบไว้กว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5 ปี เป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของ "โออาร์" ในฐานะแบรนด์ชั้นนำของไทย ที่ต้องการขยายอาณาจักรการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างแต้มต่อธุรกิจ และยกระดับการพัฒนาพื้นที่รีเทลในสถานีนํ้ามันให้เป็น Living Community ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง.....

logoline