svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

กลุ่มซีพีลุ้นตัวโก่ง ! ต่อบัตรส่งเสริมลงทุน "ไฮสปีดเทรน"

15 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลุ่มซีพีทำหนังสือถึงบีโอไอ ขอต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุนรอบสุดท้าย ด้าน "นฤตม์" เผยต้องรอให้รฟท. -สกพอ. ตอบกลับมาก่อนเหตุเป็นโครงการใหญ่อยู่ภายใต้อีอีซี

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บริษัท บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มซีพี ในฐานะบริษัทเอกชนคู่สัญญากับรัฐร่วมลงทุนในโครงการ ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาทได้ทำหนังสือถึงบีโอไอ ขอต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 22 ม.ค. 67

โดยบีโอไอได้ทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการไฮสปีดเทรนถึงการขอต่อบัตรส่งเสริมการลงทุน

ทั้งนี้ต้องรอทั้ง 2 หน่วยงานตอบกลับมาก่อนว่า การต่อสัญญามีความเหมาะสมหรือไม่ และมีข้อแนะนำอย่างไรบ้าง เพราะโครงการไฮสปีดเทรนเป็นโครงการขนาดใหญ่อยู่ภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จากปกติที่การต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุนสามา รถพิจารณาได้เลยตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ตามกฎหมายกรณีมีเหตุผลและความจำเป็น บีโอไอจะอนุมัติให้ขยายเวลาการส่งเอกสารประกอบการออกบัตรส่งเสริมให้ ไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 4 เดือน ซึ่งจะดำเนินการผ่านระบบงานบัตรส่งเสริม (Promotion Certificate System) หากมีการต่ออายุออกบัตรส่งเสริมครั้งนี้ จะทำให้เอกชนได้รับการขยายเวลารับการส่งเสริมการลงทุนถึงวันที่ 22 พ.ค. 67 เป็นครั้งที่ 3 ครั้งสุดท้ายตามกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้เอกชนคู่สัญญาเคยได้รับการเสนอขอต่ออายุมาแล้ว 2 ครั้ง

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง หรือ ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน มีระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่าโครงการกว่า 224,544 ล้านบาท นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนข้ามชาติ รวมทั้งยังเป็นโครงการสำคัญที่เชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

ส่วนแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยระบุว่า เบื้องต้นที่ประชุมได้ข้อสรุปการแก้ไขสัญญาในหลักการตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งจะมีการสรุปรายละเอียดเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.และสำนักอัยการสูงสุดพิจารณาภายในเดือน ม.ค. 67

อย่างไรก็ดี คาดว่ากระบวนการต่างๆ จะใช้เวลาพิจารณาราว 30 วัน ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ เบื้องต้นจึงคาดว่าจะลงนามแก้ไขสัญญาใหม่ร่วมกับเอกชนคู่สัญญา บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ภายในเดือน พ.ค. 67

โดยหากมีการลงนามแก้ไขร่างสัญญาแล้วเสร็จ ทางเอกชนจะต้องชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รวมประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าบริหารสิทธิ 3 งวด ย้อนหลังของปี 2564 – 2566 ส่วนที่เหลืออีก 4 งวดจ่ายตามกำหนดสัญญาภายในวันที่ 24 ต.ค.ของแต่ละปี
 

สำหรับรายละเอียดของการแก้ไขสัญญาโครงการฯ จะสอดคล้องกับมติของ กพอ. ประกอบด้วย 3 เรื่อง

1.การชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในการผ่อนชำระ 7 งวด จากกรณีที่เอกชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 

2.แนบท้ายสัญญาที่มีเงื่อนไขหากเกิดเหตุสุดวิสัยในอนาคต สามารถเจรจากับเอกชนได้

3.การก่อสร้างโครงสร้างทางร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

logoline