svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

แนะแรงงานเพิ่มทักษะ "ดิจิทัล" รองรับปรับขึ้น"ค่าแรง"

06 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงแรงงานแนะเพิ่มทักษะดิจิทัลรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว-กระแสขึ้นค่าแรง ชี้หากไม่ปรับตัวจะเป็นอันดับต้น ๆ ที่ถูกเลิกจ้าง เร่งให้ความรู้แรงงานในพื้นที่ทั่วประเทศ

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงของกลุ่มแรงงานได้นั้น รัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องหารือร่วมกับหลายฝ่าย เพื่อกำหนดอัตราค่าจ้างอย่างเหมาะสมและทุกฝ่ายยอมรับ ดังนั้น หากมีการเพิ่มค่าจ้างแล้ว ลูกจ้างหรือพนักงานในสถานประกอบกิจการจึงจำเป็นต้องมีทักษะฝีมือที่สูงขึ้นด้วย  ทั้งทักษะฝีมือที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทางตรง และทางอ้อม โดยเฉพาะทักษะความรู้ ความสามารถ ที่ส่งเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่งพบว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยว ข้องหลายด้าน ทักษะดิจิทัลจึงจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ทำงานต้องมีความรู้พื้นฐาน อีกทั้งเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่ผู้ประกอบกิจการพิจารณารับเข้าทำงาน หรือกรณีเป็นผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว หากมีการคัดเลือกเลื่อนระดับ ทักษะนี้ก็อาจถูกนำมาเป็นข้อกำหนดในการเลื่อนระดับ หรือกรณีมีการคัดคนออก  พนักงานที่ขาดทักษะในด้านนี้หรือพนักงานที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะเป็นอันดับต้น ๆ ในการถูกเลิกจ้าง เป็นต้น
 

แนะแรงงานเพิ่มทักษะ \"ดิจิทัล\" รองรับปรับขึ้น\"ค่าแรง\"

สำหรับกระทรวงแรงงานเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและการเตรียมพร้อมให้แก่แรงงานรู้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่มาโดยตลอด ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่พนักงานในสถานประกอบกิจการในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีและทักษะดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

โดยมอบหมายให้หน่วยฝึกที่ตั้งอยู่ในแต่ละจังหวัดจัดอบรมให้ความรู้แก่แรงงานในพื้นที่ และส่งเสริมการฝึกอบรมด้วยมาตรการจูงใจ ด้านการลดหย่อนภาษีให้แก่สถานประกอบกิจการที่จัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานของตนเอง  เพื่อร่วมกันเพิ่มศักยภาพให้แก่แรงงานของประเทศให้มีทักษะความรู้ที่สูงขึ้น ยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า  ปีนี้ตั้งเป้าหมายพัฒนาทักษะแรงงานในสถานประกอบการ รวม 15,200 คน ประกอบด้วย โครงการยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือและสมรรถนะแรงงานรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี 8,000 คน ดำเนินการแล้ว 6,739 คน ตัวอย่างหลักสูตร เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยการผลิต การเขียนแบบวิศวกรรมเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับระบบอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ PLC  ช่างควบคุม CNC เป็นต้น

ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นเฉพาะด้านที่ผู้ปฏิบัติงานต้องเรียนรู้ ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่นับวันเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เป้าหมายจำนวน 1,200 คน ดำเนินการแล้ว 892 คน

ส่วนโครงการส่งเสริมสมรรถนะแรงงานด้านเทคโนโลยีรองรับการทำงานในศตวรรษที่ 21  เป้าหมายอีก 6,080 คน ดำเนินการแล้ว 4,794 คน หลักสูตรที่มีการฝึก เช่น การใช้โปรแกรม MITSUBIHIHIPLC&GxWork3 การพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวในงานแอปพลิเคชันประมวลผล การเขียนโปรแกรมสำหรับงานประมวลผลภาพและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

logoline