svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

Solar Cell ครั้งแรก อยากติดโซลาร์เซลล์ให้บ้านต้องเริ่มอย่างไร?

25 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำหรับใครที่กำลังสนใจอยากจะติดโซลาร์เซลล์ (solar cell) ให้กับบ้านตัวเองเป็นครั้งแรก ในบทความนี้จะเริ่มอธิบายตั้งแต่ความแตกต่างของโซลาร์เซลล์แต่ละระบบ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนติดตั้ง การบำรุงรักษา ไปจนถึงความคุ้มค่า

หน้าร้อนนี้ร้อนมากจริงๆ เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเปิดแอร์เปิดเครื่องปรับอากาศ แต่ราคาไฟต่อหน่วยก็ขึ้นเอาๆ แบบไม่หยุด มันเลยอาจจะดีกว่าถ้าเราสามารถเปิดแอร์ได้แบบฉ่ำๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าไฟมาก การใช้โซลาร์เซลล์ (solar cell) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย

สำหรับใครที่กำลังตัดสินใจจะติดแผงโซลาร์เซลล์ไว้ที่บ้านเป็นครั้งแรก วันนี้เราจะมาแนะนำถึงระบบการทำงาน, แต่ละแบบมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร, และที่สำคัญมันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือเปล่า

 

โซลาร์เซลล์มีกี่แบบ? แตกต่างกันอย่างไร?

โดยปกติแล้ว ระบบโซลาร์เซลล์สามารถแบ่งตามลักษณะการเชื่อมต่อกับการไฟฟ้าได้ทั้งหมด 3 แบบด้วยกันคือ On-Grid, Off-Grid และ Hybrid

On-Grid
 

ระบบที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดคือ ระบบ On-Grid โดย ระบบนี้แผงจะรับไฟจากแสงอาทิตย์ เป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) เข้าสู่เครื่องแปลงให้เป็นกระแสสลับ (AC) ที่เราใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเรียกว่า Inverter แล้วจึงขนานเข้ากับบ้านของเรา โดยที่เรายังมีการเชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้าอยู่ เมื่อระบบทำงาน ไฟที่ได้จากระบบจะเข้าไปเลี้ยงบ้านของเรา แต่หากบ้านมีการใช้กำลังไฟมากกว่าที่ผลิตได้ ก็ยังสามารถซื้อไฟจากการไฟฟ้าได้เหมือนเดิม กลับกันหากเราสามารถผลิตไฟได้มากกว่าที่ใช้ เราสามารถสมัครเข้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนได้ โดยการไฟฟ้าทั้ง ส่วนภูมิภาคและนครหลวงจะรับซื้อพลังงานที่ผลิตได้เกินการใช้งานของบ้าน ในราคาหน่วยละ 2.2 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 21 เม.ย.)

ทำให้ข้อดีของระบบนี้คือ เราไม่จำเป็นต้องลงทุนระบบขนาดใหญ่มาก และไม่ต้องมีการบริหารการใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด หากกำลังไฟจากระบบไม่พอ ยังสามารถซื้อไฟจากการไฟฟ้าได้ หรือสามารถขายคืนหากมีมากเกินไป และราคาระบบถือว่าถูกที่สุดในทั้งสามแบบ เนื่องจาก ไม่มีการติดตั้งแบตเตอรี่สำหรับการกักเก็บพลังงาน ซึ่งนำไปสู่ข้อเสียที่ว่า เราจำเป็นต้องใช้ไฟในช่วงที่ระบบสามารถผลิตได้—คือตอนกลางวัน—เยอะๆ ถึงจะเกิดความคุ้มค่า ซึ่งไลฟ์สไตล์บางคนอาจจะไม่เหมาะ และหากเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง ระบบจะหยุดการทำงานทันทีถึงแม้ว่า ณ เวลานั้นจะมีแสงแดดก็ตาม

Off-Grid

ระบบถัดมาคือ ระบบแบบ Off-Grid ระบบนี้ถูกออกแบบมาสำหรับพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากเป็นระบบที่ไม่จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้า มีการทำงานคล้ายกับ On-Grid คือมีแผงต่อไปที่ Inverter และจ่ายไฟเข้าบ้าน แต่ระบบนี้มีการเพิ่มแบตเตอรี่หรืออุปกรณ์จัดเก็บพลังงานเข้ามา เมื่อบ้านมีการใช้งานมากกว่าที่ระบบผลิตได้ ระบบจะดึงไฟที่เก็บไว้เอามาจ่ายด้วย หรือกลับกัน หากมีการใช้น้อยกว่าที่ผลิต มันจะเอาพลังงานที่เหลือกลับไปชาร์จเข้าสู่แบตเตอรี่

ข้อดีของระบบนี้คือ เราไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับการไฟฟ้า ไม่มีการเดินสายไฟจากการไฟฟ้าเข้าบ้านของเรา ไม่ต้องมีบิลค่าไฟใดๆ ทั้งสิ้น และถึงแม้ว่าด้านนอกเช่นระบบของการไฟฟ้าเกิดขัดข้อง บ้านอื่นๆ ไฟดับ แต่บ้านเราจะมีไฟติดอยู่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ข้อเสียใหญ่มากๆ สำหรับระบบลักษณะนี้คือ เราต้องคอยตรวจสอบตลอดไม่ให้การใช้ไฟเกินกว่าที่ผลิตได้ และการที่จะออกแบบระบบให้ใหญ่มากพอที่จะครอบคลุมการทำงานนั้นจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เนื่องจากต้องติดตั้งขนาดที่ใหญ่มากเพียงพอที่จะจ่ายให้บ้านในช่วงกลางวัน และยังต้องสามารถเก็บพลังงานได้มากเพียงพอที่จะใช้ในช่วงเวลากลางคืน นั่นหมายความว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนของแบตเตอรี่ที่ในปัจจุบันยังมีราคาสูง และยังไม่คุ้มค่าในปัจจุบัน ทำให้ระบบนี้จึงยังไม่เหมาะกับการติดตั้งในบ้านทั่วๆ ไป แต่จะเหมาะกับบ้านที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบของการไฟฟ้าได้ เช่น รถบ้านที่ต้องเคลื่อนได้ตลอด หรือพื้นที่ห่างไกล

Hybrid

ระบบสุดท้ายเป็นการเอาข้อดีของทั้งสองระบบเข้ามารวมกัน เรียกว่าระบบแบบ Hybrid คือมีลักษณะเหมือน On-Grid ทุกประการ ตัวระบบมีการเชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้า แต่เพิ่มแบตเตอรี่หรือระบบการจัดเก็บพลังงานเช่นเดียวกับ Off-Grid ทำให้ได้ข้อดีในเรื่องของการจัดเก็บพลังงานในเวลาที่ระบบผลิตได้มากกว่าการใช้งาน เพื่อเก็บมาใช้ในช่วงเวลาที่ระบบผลิตได้น้อยกว่า และยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมสำหรับการทำระบบไฟฟ้าสำรองในกรณีที่ระบบของการไฟฟ้าขัดข้อง และยังไม่จำเป็นต้องลงทุนในระบบการจัดเก็บพลังงานมากหากปริมาณไฟที่เก็บไว้ไม่เพียงพอ เรายังสามารถซื้อไฟจากการไฟฟ้าได้อยู่เหมือนเดิม แต่กลับกัน ข้อเสียที่สำคัญยังคงอยู่ในแบตเตอรี่เช่นเดิม เนื่องจากยังมีราคาสูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เหมาะกับสถานที่ๆ ต้องการให้มีไฟฟ้าใช้งานตลอดเวลาและมีระบบสำรองเสมอ

 

การติดตั้งและค่าใช้จ่าย

เรื่องใหญ่มากๆ คือการหาผู้รับเหมาเข้ามาติดตั้ง ระบบที่เราติดจะทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุดและปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยนั้นขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้ เพราะในปัจจุบันมีผู้รับเหมาที่รับติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าใหญ่มากๆ ระดับเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว จนถึงขนาดเล็กๆ ส่วนบุคคลเลยก็มี แต่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าไหน เรามีสิ่งที่อยากให้เช็กทั้งหมด 4 จุดด้วยกัน

1. ความเชี่ยวชาญของผู้รับเหมา

เนื่องจากระบบโซลาร์เซลล์เป็นระบบที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ และยังเป็นระบบที่ต้องมีการออกแบบให้เข้ากับหลังคาของแต่ละบ้าน ส่งผลต่อทั้งประสิทธิภาพของระบบและความปลอดภัย ข่าวไฟไหม้โซลาร์เซลล์ที่เราเห็นกันส่วนหนึ่งก็เกิดจากการออกแบบระบบที่ไม่มีมาตรฐาน ดังนั้น ความเชี่ยวชาญของผู้รับเหมาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรเลือกผู้รับเหมาที่มีใบประกอบวิชาชีพและมีมาตรฐานจะดีกว่ามาก

2. ประสบการณ์ของผู้รับเหมา

เพราะระบบโซลาร์เซลล์จำเป็นต้องออกแบบเพื่อให้เข้ากับสถานที่ที่ติดตั้ง เช่น ทิศทางการวางแผง การติดตั้งอุปกรณ์จับยึดเพื่อลดโอกาสที่หลังคาจะรั่วให้น้อยที่สุด แต่มาพร้อมความแข็งแรงสูง ไปจนถึงการเดินสายไฟ แม้หลักการเหล่านี้จะมีอยู่ในตำรา แต่พอถึงหน้างานจะมีความแตกต่างกันไป ทำให้ประสบการณ์เป็นส่วนสำคัญมากๆ ส่งผลถึงทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาวเลยทีเดียว ยกตัวอย่าง ระบบที่มีขนาดเท่ากัน บ้านหลังเดียวกัน แต่ถ้าประสบการณ์ต่างกัน ระยะการคืนทุนก็อาจต่างกันถึงหลักปี ทำให้เราจำเป็นต้องเข้าไปดูงานที่ผ่านๆ มาว่า ผู้รับเหมาเจ้าที่เราสนใจนั้นมีประสบการณ์มากน้อยขนาดไหน

3. ความน่าเชื่อถือของผู้รับเหมา

ระบบที่เราลงทุนติดตั้งไปนั้นมีอายุยาวนานมากๆ หากผู้รับเหมาดูเป็นเจ้าเล็กและใหม่กับงาน ก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะล้มละลายหรือปิดกิจการ มากกว่าเจ้าที่อยู่มานานหรือเจ้าที่มีความสามารถในการบริหารงบการเงิน ลองนึกภาพตามว่า ถ้าบริษัทที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้ อยู่ ๆ ผ่านไป 9 ปี เกิดปิดตัวไป หากระบบมีความผิดปกติขึ้นมาก็ไม่มีใครจะมาจัดการให้เราได้ ดังนั้น ความน่าเชื่อถือจึงเป็นส่วนต้องคำนึงถึง ยอมรับว่าส่วนนี้อาจจะต้องใช้ประสบการณ์สักหน่อย เบื้องต้นพยายามเลือกบริษัทที่มีงานติดตั้งเยอะๆ เป็นตัวเลือกนึง 

4. อุปกรณ์ที่ติดตั้งควรเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับมาตรฐาน

อุปกรณ์ที่ติดตั้งส่งผลโดยตรงถึงเรื่องความปลอดภัย เช่น Inverter เอง ทางการไฟฟ้ามีการจัดทำรายการรุ่นของ Inverter ที่ได้รับการรับรองให้สามารถใช้ได้กับทั้งระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง ส่วนแผงโซลาร์เซลล์เองควรเป็นแผงที่มียอดขายสูงเป็นอันดับต้นๆ เช่น LG Solar, LONGi, Trina Solar, และ Jinko สำหรับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น สายไฟ, กล่องไฟ, และเบรกเกอร์ ทั้งหมดอย่างน้อยที่สุดควรผ่านมาตรฐาน มอก. จากการสังเกตและประสบการณ์ของผู้เขียน ผู้ติดตั้งส่วนใหญ่ที่ให้ราคาค่าติดตั้งถูก มักจะมากับอุปกรณ์ที่ไม่ได้รับมาตรฐานหรือมีคุณภาพต่ำ ดังนั้น ก่อนที่จะตกลงติดตั้งแนะนำให้สอบถามถึงอุปกรณ์ที่จะมีการติดตั้งก่อน

Solar Cell ครั้งแรก อยากติดโซลาร์เซลล์ให้บ้านต้องเริ่มอย่างไร?

ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งจะขึ้นกับขนาดที่ต้องการ, คุณภาพของอุปกรณ์ที่ใช้, และลักษณะสถานที่ที่ติดตั้ง โดยส่วนใหญ่ บ้านทั่วๆ ไป มักจะติดตั้งกันที่ขนาด 5 kWp โดยราคา (ณ วันที่เขียน) จะอยู่ที่ประมาณ 250,000-340,000 บาท ซึ่งเจ้าใหญ่ๆ ในประเทศไทยจะมี Solar-D และ SCG ที่ให้บริการ หรือจะลองค้นหาเจ้าอื่นๆ ที่ไม่ได้ยกขึ้นมาก็ได้เช่นกัน

การติดตั้งโซลาร์เซลล์จำเป็นต้องมีการขออนุญาติ เดินเรื่องกับหน่วยงานราชการหลายแห่ง เช่น สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่, และการไฟฟ้าที่ดูแลพื้นที่ ส่วนใหญ่ผู้รับเหมามักจะมีบริการขออนุญาติให้ด้วยเลย รวมไปถึงการขอเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนสำหรับการขายไฟ จะได้ไม่ต้องไปเดินเรื่องเองให้เสียเวลา อาจจะสอบถามถึงบริการนี้ไปด้วยก่อนที่จะตกลงติดตั้ง

 

หลังจากการติดตั้งจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาหรือไม่?

หลังจากการติดตั้งแล้วสามารถใช้ได้เลย และไม่จำเป็นต้องดูและอะไรเป็นพิเศษ แต่อาจจะต้องมีการให้ช่าง หรือผู้ติดตั้งเข้ามาตรวจสอบการทำงานของระบบเพื่อความปลอดภัย ตรวจเช็กตามจุดเชื่อมต่อ หรือข้อต่อต่างๆ หากมีความผิดปกติจะได้ทำการแก้ไข

ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ โดยปกติหน้าแผงทำจากกระจก ทำให้เมื่อฝนตก ฝุ่นที่เกาะอยู่ส่วนใหญ่จะหลุดออกเองตามธรรมชาติ แต่บางครั้ง เราอาจจะโดนนกแถวนั้นเล่นงานแผงเราซะเละ ซึ่งฝนอาจจะไม่แรงพอที่จะชะมันออกไปได้ ทำให้แผงผลิตพลังงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น เราจำเป็นต้องให้ช่างเข้ามาล้างแผงบ้าง โดยระยะเวลาที่ช่างจะต้องเข้ามาตรวจสอบและล้างแผงให้ อย่างน้อยจะอยู่ในความถี่แค่ปีละครั้งเท่านั้น หรือถ้าบ้านใครที่เป็นเหยื่อของเหล่านกหรือมีฝุ่นควันเยอะอาจจะต้องทำความสะอาดถี่กว่านั้น เช่น 6 เดือนครั้ง ค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งขึ้นกับขนาดของระบบและการเดินทางของช่าง ราคาจะค่อนข้างแปรผัน

 

ระยะเวลาการคืนทุนและอายุของระบบ

ระบบโซลาร์เซลล์ไม่ต่างจากระบบไฟฟ้าทั่วไป เราไม่สามารถกำหนดอายุขัยตายตัวได้ ส่วนที่ต้องให้ความสนใจจึงเป็นระยะการรับประกันมากกว่า โดยอุปกรณ์แต่ละตัวนั้นมีระยะการรับประกันที่ไม่เท่ากัน ตัวที่มีราคาสูงที่สุดคือแผงโซลาร์เซลล์ ส่วนใหญ่จะมีการรับประกันที่ 30 ปี หากประสิทธิภาพตกลงจนต่ำกว่า 80% เราสามารถให้ผู้ติดตั้งเข้ามาเอาแผงไปเคลมได้ และ Inverter เองส่วนใหญ่จะรับประกันอยู่ที่ 10 ปี และสำหรับแบตเตอรี่ส่วนใหญ่รับประกันที่ 10-12 ปี แล้วแต่รุ่น

ระยะเวลาการคืนทุนของบ้านขึ้นกับปริมาณการใช้ไฟ ส่วนใหญ่ในระบบ On-Grid ขนาด 5 kWp มีระยะการคืนทุนอยู่ที่ 7-8 ปี ซึ่งยังไม่ถึงระยะการรับประกันของอุปกรณ์ที่ประกันสั้นที่สุดอย่าง Inverter ด้วยซ้ำ ทำให้เรามีโอกาสคืนทุนแน่นอนถ้าเราใช้ไฟให้หมด

หากเราต้องการคำนวณเอง เราสามารถเอาขนาดระบบที่ติดตั้ง x ชั่วโมงแดด, ราคาหน่วยไฟ, และ 30 วันเพื่อประมาณเงินที่สามารถประหยัดต่อเดือนได้ เช่น ติดตั้งระบบขนาด 5 kWp ส่วนชั่วโมงแดดแนะนำให้ใช้ที่ 5 ชั่วโมง และ ราคาค่าไฟ ณ วันที่เขียนให้ 4.1 บาท/หน่วย ดังนั้นในหนึ่งเดือนจะประหยัดได้ประมาณ 3,075 บาท และใน 1 ปีจะประหยัดได้ประมาณ 36,900 บาท

และเทียบกับค่าติดตั้ง สมมติที่กลางๆ ที่ประมาณ 310,000 บาท ทำให้ระยะการคืนทุนอยู่ที่ 8.4 ปี หรือปัดขึ้นไปเลย เป็น 9 ปี ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้ เพราะยังไม่เกิดระยะการรับประกันของ Inverter 10 ปี และการคำนวณนี้ยังไม่นับว่าค่าไฟมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะถ้าค่าไฟแพงขึ้น เราจะคุ้มทุนไวขึ้นด้วยเช่นกัน

Solar Cell ครั้งแรก อยากติดโซลาร์เซลล์ให้บ้านต้องเริ่มอย่างไร?

 

สรุป

การติดระบบโซลาร์ทำให้เราสามารถลดค่าไฟ เปิดแอร์ฉ่ำได้ ยิ่งแดดแรงยิ่งคุ้ม ออกไปยืนเรียกแดดกันเลยทีเดียว เมื่อประกอบกับการจัดสรรเวลาการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ดี ยิ่งทำให้คุ้มทุนไวขึ้น เป็นการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้อยู่อาศัยตามบ้าน อ่านมาถึงตอนนี้หลายคนน่าจะอยากลุกไปโทรหาผู้รับเหมาแล้วสินะ แต่เดี๋ยวก่อน! การติดโซลาร์เซลล์นั้นก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ทั้งเรื่องของโครงสร้างบ้าน มุมทิศของบ้าน และ ลักษณะการใช้ชีวิต เช่น กลางวันส่วนใหญ่ไปทำงาน การใช้โซลาร์เซล์อาจจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ ดังนั้นก่อนติดตั้ง แนะนำให้ปรึกษาผู้รับเหมา สำรวจหน้างาน และทำแบบจำลองก่อน แล้วจึงค่อยตัดสินใจ


 

logoline