svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

Civil War ถ้าสหรัฐอเมริกาเกิดสงครามกลางเมือง

19 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จะเป็นอย่างไรถ้าหนึ่งในประเทศที่นับว่าทรงอำนาจที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกาเกิดสงครามกลางเมือง Civil War คือหนังที่จะพาคนดูไปติดตามทีมนักข่าวที่เดินทางเข้าสู่แนวหน้า ตรงเข้าสู่จุดปะทะของสงคราม

ในช่วงเวลาอันเดือดดาลและรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในสหรัฐอเมริกา ภายใต้รัฐบาลอำนาจเบ็ดเสร็จที่สถานะทางการเมืองง่อนแง่นลงทุกที แม้หลายรัฐจะยังแสดงท่าทีภักดีต่อรัฐบาล แต่อีกหลายรัฐก็กระจัดกระจายไปสร้างกองกำลังของตัวเอง ทั้งกองกำลังรัฐฝั่งตะวันตก, พันธมิตรฟลอริดา, และกองทัพประชาชนปลดแอก

Civil War (2024). ภาพจาก IMDb

แม้หน้าหนังจะวางตัวเป็นหนังการเมืองดังย่อหน้าข้างต้น ทว่า Civil War (2024) หนังยาวลำดับล่าสุดของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ หาได้เป็นหนัง ‘การเมือง’ เต็มขั้น มันเล่าเรื่องราวของกลุ่มนักข่าวและช่างภาพสงครามที่มุ่งมั่นเดินทางฝ่ารัฐและกลุ่มก้อนทางการเมืองต่างๆ ตรงไปยังวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อไปให้ถึงตัวประธานาธิบดี ผู้เหนี่ยวรั้งอำนาจของตัวเองไว้อย่างสิ้นหวัง
 

ลี สมิธ (เคิร์สเตน ดันสต์) ช่างภาพสงครามที่มีชื่อเสียงจากการกระโจนเข้าไปถ่ายความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ตั้งใจจะออกเดินทางไปยังวอชิงตันกับ โจล (แวกเนอร์ มัวรา) นักข่าวจากรอยเตอร์ที่อยากสัมภาษณ์ประธานาธิบดีก่อนหน้าจะถูกปลดออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเขาเชื่อว่ารัฐบาลไม่มีทางต้านกองกำลังประชาชนได้นานนัก โดยมี แซมมี (สตีเฟน แม็กคินลีย์ เฮนเดอร์สัน) นักข่าวอาวุโสจาก The New York Times และเป็นเสมือนพี่เลี้ยงของลีสมัยเธอหัดเป็นสื่อมวลชนวัยเยาว์ ขอติดรถไปด้วยท่ามกลางสายตาคัดค้านของลีเนื่องจากเธอพิจารณาว่า วัยและข้อจำกัดทางร่างกายของแซมมีน่าจะถ่วงรั้งการเดินทาง ซ้ำร้ายกว่านั้นแซมมีอาจบาดเจ็บหนักได้ นอกจากนี้ เธอยังมี เจสซี (เคลี สเปนีย์) ช่างภาพสาวรุ่นใหม่ที่มองว่าลีเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของการเติบโตในสายอาชีพนี้ขอติดรถไปด้วย ท่ามกลางสายตาคัดค้านและเป็นกังวลของลีเช่นกัน

Civil War (2024). ภาพจาก IMDb

มองจากภาพรวมก็อาจจะกล่าวได้ว่า Civil War เป็นเสมือนหนัง road trip ของเหล่าคนทำงานสื่อทั้งสี่ เมื่อพวกเขาจำต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถยนต์ เดินทางค้างอ้างแรมตามที่ต่างๆ ระหว่างทางต้องเผชิญหน้ากับเศษซากของสงครามกลางเมืองทั้งกองกำลังติดอาวุธ คนจากกองทัพ หรือแม้แต่คนที่เฝ้ามองสงครามด้วยสายตานิ่งเฉยและพยายามใช้ชีวิตต่อไปอย่างเป็นปกติสุขเท่าที่จะทำได้ และอีกด้าน ก็อาจจะกล่าวว่ามันเป็นหนังข้ามพ้นวัยของตัวละครเจสซี เมื่อหนังแนะนำให้เรารู้จักเธอผ่านฉากต้นเรื่องที่เธอ—ที่ถือกล้องเพื่อบันทึกเหตุการณ์ตรงหน้า—ถูกลูกหลงระหว่างการปะทะกันของผู้ชุมนุมและทหาร ทั้งยังมีอาการสั่นกลัวเมื่อเห็นความรุนแรงปรากฏขึ้นตรงหน้าอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเธอเห็นเชลยถูกกองกำลังจับทรมาน หนังชวนคนดูสำรวจปฏิกิริยาตอบสนองที่แตกต่างกันระหว่างเจสซีซึ่งเป็นช่างภาพมือใหม่กับลีผู้เป็นสื่อเจนสนาม ขณะที่ฝ่ายแรกสั่นกลัวและตื่นตระหนกอย่างเห็นได้ชัด ลีกลับเอ่ยปากขอให้กองกำลังที่ถือปืนอยู่ถ่ายรูปร่วมกับเชลย—เราจะพินิจสิ่งนี้ว่าเป็นความเคยชิน ความอำมหิต หรือแม้แต่ความเป็นมืออาชีพของลีก็ย่อมได้

Civil War (2024). ภาพจาก IMDb

กระนั้น หนังก็ฉายให้เห็นความหวั่นไหวและอดีตที่หลอกหลอนของลีผ่านฟุตเทจสั้นๆ เมื่อเธอหวนระลึกถึงชีวิตการทำงานของตัวเอง หนังไม่ได้อธิบายลงรายละเอียดมากนัก หากแต่คนดูพอรับรู้ได้คร่าวๆ ว่าเธอเป็นช่างภาพสงครามที่ผ่านพื้นที่แห่งความขัดแย้งหลายสมรภูมิ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นต่างประเทศ เธอในฐานะสื่อ—และในฐานะคนอเมริกัน—จึงมีลักษณะของการเป็น 'คนนอก' ต่อความขัดแย้งเหล่านั้นอยู่สูง ทว่า การเป็นคนนอกเหล่านั้นก็เป็นคนละเรื่องกับความเป็นมนุษย์ เพราะแม้เธอในฐานะช่างภาพและในฐานะคนอเมริกันจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเหล่านั้น แต่เลือดเนื้อของมนุษย์และความตายของคนแปลกหน้าดังกล่าวก็ยังเป็นเรื่องที่หลอกหลอนเธอ ทั้งยังอาจทำให้เธอ 'หมดความเชื่อมั่น' ต่อพลังของสื่อสารมวลชนดังที่เพื่อนร่วมทางว่าไว้

Civil War (2024). ภาพจาก IMDb

ทั้งนี้ ฉากที่เป็นที่ 'เลื่องลือ' มากที่สุดฉากหนึ่งคือเมื่อเหล่าสื่อมวลชนเผชิญหน้ากับทหารนิรนาม (เจสซี พลีมอนส์—และการแสดงอันแสนอำมหิตเย็นชา) ที่กำลังกำจัดศพลงในหลุมขนาดยักษ์ จะว่าไปแล้ว นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตัวละครต้องรับมือกับบุคคลที่มีอาวุธในครอบครอง แต่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้เฝ้ามองการสังหารในระยะประชิด ทั้งยังเป็นการสังหารที่คุกคามและเลือดเย็นที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อนายทหารเลือกสัมภาษณ์เหล่าผู้สื่อข่าวแต่ละคนว่าพวกเขามาจาก 'ที่ไหน' และเลือกกำจัดนักข่าวที่มีเชื้อสายเอเชียด้วยท่าทีปราศจากความลังเล ซึ่งด้านหนึ่งก็ชวนให้คำนึงถึงสภาพอเมริกาในความเป็นจริงที่กระแสเชิดชูความเป็นคนขาว (white supremacy) และภาวะคลั่งชาติ (ultranationalism) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในระยะไม่กี่ปีให้หลัง ภาพศพมนุษย์ที่กองกันอยู่ในหลุมยักษ์จึงไม่ใช่อะไรอื่นนอกเสียจากภาพสะท้อนโศกนาฏกรรมการพันธุฆาตครั้งก่อนๆ ของมนุษยชาติที่มักเลือกกำจัดศพด้วยการขุดหลุมฝังรวมในครั้งเดียว นอกจากนี้ ก็ไม่มีอะไรรับประกันเหล่าตัวละครอเมริกันคนอื่นๆ เลยว่าหากพวกเขายังเผชิญหน้ากับนายทหารนิรนามอยู่ พวกเขาจะถูกกำจัดเช่นเดียวกันหรือไม่

Civil War (2024). ภาพจาก IMDb

อย่างไรก็ตาม สภาพการเมืองและความขัดแย้งที่ปรากฏใน Civil War ของการ์แลนด์ก็หาได้ 'จำเพาะ' ว่าต้องเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ตรงกันข้าม ดูราวกับว่าสงครามและการปะทะกันเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ สวมใส่ลงในประเทศใดก็ได้ ด้านหนึ่งก็อาจเป็นความตั้งใจของการ์แลนด์ ทว่า อีกด้านก็ชวนน่าเสียดายที่มันทำให้ความขัดแย้งดังกล่าวไม่มีลักษณะเฉพาะและทำให้เส้นเรื่องการเมืองเบาบางไปถนัดใจ ทั้งที่จริงๆ หนังทั้งเรื่องมีศักยภาพพอจะเล่าได้มากกว่าแค่ 'การเดินทางของกลุ่มนักข่าวในประเทศที่มีสงครามกลางเมือง' สุดท้าย สงครามในหนังจึงเป็นเสมือนเหตุการณ์ที่เหล่าตัวละครต้องฝ่าฟันเพื่อไปให้ถึงใจกลางของประเทศอย่างวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อสัมภาษณ์ประธานาธิบดี หรือเป็นด่านเคราะห์ที่ตัวละครเจสซีต้องเผชิญเพื่อก้าวข้ามไปสู่การเป็นช่างภาพมืออาชีพแบบ ลี สมิธ ที่เธอเทิดทูน และแน่นอนว่าเธอย่อมเป็นอีกหนึ่ง ‘ดอกผล’ ที่เติบโตขึ้นหลังผ่านความรุนแรงมาได้ เมื่อเด็กสาวถ่ายภาพการสังหารที่เกิดขึ้นตรงหน้าโดยปราศจากความลังเลหรือตื่นตระหนกใดๆ อีกต่อไป

Civil War (2024). ภาพจาก IMDb

หากเราพินิจงานเรื่องก่อนๆ ของการ์แลนด์ เราคงพบว่าจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือเขามักเล่าเรื่องความเป็นมนุษย์ผ่านสถานการณ์อันแสนท้าทายและบีบคั้น โดยเฉพาะ Ex Machina (2014) หนังยาวเรื่องแรกที่แจ้งเกิดเขาในฐานะผู้กำกับและส่งเขาเข้าชิงออสการ์สาขาเขียนบทยอดเยี่ยม ก็ว่าด้วยมนุษย์ที่รู้สึกถูกคุกคามในโลกที่เต็มไปด้วยปัญญาประดิษฐ์ และไปไกลกว่านั้นด้วยการตั้งคำถามถึง 'ความเป็นมนุษย์' ในเชิงปรัชญา รวมถึง Annihilation (2018) ที่จับจ้องไปยังกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ ของธรรมชาติไม่เป็นไปตามที่พวกเขาเข้าใจอีกต่อไป ซึ่งชวนให้พวกเขาตั้งคำถามถึงตัวตนของตัวเองในฐานะมนุษย์ด้วย และหากจะพินิจกันในแง่มุมนี้ Civil War ก็ทำงานใกล้เคียงกันเมื่อมันว่าด้วยกลุ่มคนในพื้นที่อันตราย หากแต่เส้นเรื่องอันแสนบางเบาก็ทำให้แง่มุมต่างๆ ของหนังจืดจางลงจนน่าใจหายและน่าเสียดายเป็นที่สุด
 

logoline