svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

“เสื้อฮาวาย” ซอฟต์พาวเวอร์ที่มาถึงไทย โดยเกาะฮาวายไม่ต้องโปรโมตเอง

09 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หน้าร้อนและสงกรานต์มาถึงอีกครั้ง และที่มาพร้อมกันก็คือ 'เสื้อฮาวาย' หรือ 'เสื้อลายดอก' แฟชั่นที่วนกลับมาให้เห็นทุกปีจนชินตา แต่ว่าคนไทยเริ่มสนใจเสื้อฮาวายตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วเสื้อลายสดใสนี้คือซอฟต์พาวเวอร์จากเกาะฮาวายจริงไหม

เทศกาลสงกรานต์เวียนกลับมาอีกครั้ง เมื่อนึกถึงสงกรานต์ คุณนึกถึงอะไร? การสาดน้ำ ประแป้ง (เดี๋ยวนี้อาจจะไม่ให้ประกันแล้ว) ปืนฉีดน้ำ และแน่นอนว่าอีกหนึ่งที่มาพร้อมกับสงกรานต์ในทุกๆ ปี นั่นก็คือเสื้อลายดอก หรือเสื้อฮาวาย

“เสื้อฮาวาย” ซอฟต์พาวเวอร์ที่มาถึงไทย โดยเกาะฮาวายไม่ต้องโปรโมตเอง

เสื้อฮาวาย ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามาจากเกาะฮาวาย แต่คนฮาวายเอี้ยนไม่ได้เรียกสิ่งนี้ว่า ‘ฮาวายเอี้ยนเชิ้ต’ (hawaiian shirt) หรอกนะ เขาเรียกมันว่า ‘อะโลฮาเชิ้ต’ (aloha shirt) แต่แม้จะมาจากเกาะฮาวาย แต่ต้นกำเนิดของเสื้อฮาวายนั้นไม่ได้มาจากชนพื้นเมืองดั้งเดิมของฮาวาย แต่มันมาจากเชื้อชาติอื่นที่อพยพไปอาศัยอยู่ที่ฮาวาย ถึงอย่างนั้น ใครเป็นคนแรกที่ให้กำเนิดเสื้อฮาวายก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ดี เพราะจากประวัติศาสตร์ มีทั้งเรื่องเล่าของชาวฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น  และจีน

เรื่องเล่าแรก บอกว่าเสื้อฮาวายนั้นคล้ายกับเสื้อที่เรียกว่า palaka ซึ่งเป็นเสื้อผ้าคอตตอนเนื้อหนาสวมใส่โดยคนงานทำสวนทำไร่ มีกระดุมหน้าสามเม็ดจากช่วงคอคล้ายเสื้อโปโลในปัจจุบัน เหมือนกับเสื้อ barong tagalog ของฟิลิปปินส์ เรื่องเล่าที่สอง บอกว่าเสื้อฮาวายเป็นผลผลิตของร้านตัดเสื้อที่ชื่อ Musashiya Shoten (ชื่อเดิมคือ Musashi-ya) ของ โชทาโร มิยาโมโตะ ชาวญี่ปุ่นที่อพยพมาอยู่ที่โฮโนลูลู ฮาวาย ในปี 1904
 

เรื่องเล่าที่สามบอกว่าเสื้อฮาวายมาจากไอเดียของลูกชายเจ้าของร้านขายของแห้งชาวจีนนามว่า เอลเลอรี ชุน ในเมืองโฮโนลูลู ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเสื้อของชาวฟิลิปปินส์ที่เรียกว่า bayau โดยใช้ผ้ายูกาตะของญี่ปุ่นมาตัดทำเป็นของที่ระลึกขายนักท่องเที่ยว และเรื่องเล่าสุดท้ายปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง The Hawaiian Shirt: Its Art and History โดย ทอมมี สตีล ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1984 โดยกล่าวว่าเสื้อฮาวายมาจากฝีมือของแม่ของหนุ่มที่ชื่อ กอร์ดอน ยัง โดยใช้ผ้าที่นำไปใช้ทำชุดยูกาตะของญี่ปุ่นมาตัดเช่นเดียวกัน

“เสื้อฮาวาย” ซอฟต์พาวเวอร์ที่มาถึงไทย โดยเกาะฮาวายไม่ต้องโปรโมตเอง

ไม่ว่าใครจะเป็นคนแรกที่ให้กำเนิดเสื้อฮาวายแต่ในปัจจุบันนี้มันได้กลายเป็นทั้งซอฟท์พาวเวอร์ เป็นแฟชั่นไอเท็ม เป็นตำนานที่ขจรขจายไปทั่วทุกมุมของโลกแล้ว แต่ประเทศไทยเองก็รู้จักมันในนามเสื้อลายดอก สัญลักษณ์ประจำสงกรานต์

แต่ภายใต้ความเป็นซอฟท์พาวเวอร์ของมัน สิ่งที่ทำให้เสื้อฮาวายกลายเป็นแฟชั่นไอเท็มที่โด่งดังเป็นที่รู้จักและนิยมไปทั่วโลกนั้นมาจากที่ครั้งหนึ่งเสื้อฮาวายถูกใช้เครื่องมือทางการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาะฮาวายนั่นเอง
 

ในปี 1959 สหรัฐอเมริกประกาศให้เกาะฮาวายเป็นมลรัฐที่ 50 ของสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าฮาวาย นอกจากจะเป็นเกาะ มีเชื้อชาติและวัฒนธรรมเป็นของตัวเองแล้ว การที่จะทำให้ฮาวายรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชาวสหรัฐฯ แผ่นดินใหญ่ เพื่อหลอมรวมเป็น ‘สหรัฐฯ เดียว’ นั้น ทางการสหรัฐฯ ใช้วิธีทางวัฒธรรมนั่นก็คือ ‘เสื้อฮาวาย’ 

เริ่มต้นด้วยการสร้างจากภาพยนตร์เรื่อง From Here To Eternity ในปี 1953 ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับทหารสหรัฐฯ และเกาะฮาวาย เพื่อสร้างภาพความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินทั้งสอง แม้กระทั่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถึงสองคนทั้ง ริชาร์ด นิกสัน และ แฮร์รี เอส. ทรูแมน ก็ลงทุนสวมใส่เสื้อฮาวาย ซึ่งก็เป็นวิธีการแบบนักการเมืองเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก่อนที่สหรัฐฯ และฮาวายในฐานะมลรัฐที่ 50 ของประเทศจะมีความสัมพันธ์แนบแน่นสุดๆ ผ่านภาพยนตร์เรื่อง Blue Hawaii ในปี 1961 ที่ได้ราชาเพลงร็อกแอนด์โรลล์ เอลวิส เพรสลีย์ นำแสดง แถมเอลวิสยังสวมใส่เสื้อฮาวายสีแดงในภาพปกของซาวนด์แทร็กอัลบั้มจากหนังเรื่องนี้ และแน่นอนว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับทหารสหรัฐฯ และเกาะฮาวายเช่นเคย

Blue Hawaii (1961). ภาพจาก IMDb

จะเห็นได้ว่าเสื้อฮาวายเอง—ซอฟท์พาวเวอร์ของเกาะฮาวายอย่างเสื้อฮาวายนั้น—ไม่ได้มาจากการโปรโมตในฐานะแฟชั่นเท็มของดีเกาะฮาวายแต่อย่างใด แต่มันมาพร้อมกับกุศโลบายทางการเมืองอันแยบยลของสหรัฐฯ ที่นำเสนอผ่านป๊อปคัลเจอร์อย่างภาพยนตร์ และป๊อปไอคอนรุ่นแรกๆ อย่าง เอลวิส เพรสลีย์ ซึ่งวิธีการนี้ก็ยังใช้ได้ดีในยุคปัจจุบันกับการแผ่ขยายซอฟท์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้ในนาม Korea Wave 

ในประเทศไทยที่สวมใส่เสื้อลายดอก-เสื้อฮาวายกันทุกๆ เทศกาลสงกรานต์ ก็ได้รับอิทธพลมาจากสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1960s ผ่านทั้งป๊อปคัลเจอร์และทหารอเมริกาที่เข้ามาในไทยในช่วงนั้น โดยเฉพาะในยุครัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ในปี พ.ศ.2503 มีการจัดงานลีลาศ ‘เมษาฮาวาย’ ขึ้นที่สถานลีลาศสวนลุมพินี นอกจากเต้นลีลาศแล้วยังมีการประกวด ‘เทพีฮาวาย’ ซึ่งสาวงามที่เข้าประกวดในงานนี้ก็จะสวมใส่เดรสลายดอกไม้เหมือนลายเสื้อฮาวาย ในขณะที่หนุ่มๆ ที่เข้าร่วมเต้นลีลาสในงานนี้ก็จะสวมใส่เสื้อลายดอกเช่นเดียวกัน

ทีนี้รู้แล้วใช่ไหมล่ะว่า ทำไมสงกรานต์ คนไทยถึงใส่เสื้อลายดอกหรือเสื้อฮาวายกัน 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline