svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ว่ายน้ำไปทำงานกันไหม? เพราะเมืองอื่นเริ่มทำคลองสะอาดจนคนอยากโดดลงน้ำ

09 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รถติดเหรอ? ว่ายน้ำไปทำงานเป็นไอเดียที่ผุดขึ้นมาในหัวบ้างรึเปล่า? ไม่ได้พูดเล่นนะ เพราะหลายเมืองใหญ่ในต่างประเทศกำลังพยายามให้แม่น้ำลำคลองในเมืองกลับมาสะอาด และคนอยากโดดลงไปว่ายได้จริงๆ

เปิดศักราชใหม่การทำงาน เราคงนึกภาพไม่ออกว่าถ้าวันที่รถติดๆ ทุกเช้า ถ้าเราสามารถเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ การ ‘ว่ายน้ำไปทำงาน’ หรือการลงว่ายน้ำในคลอง ในแม่น้ำของเมือง คงเป็นสิ่งที่เราคิดฝันในบริบทเมืองไม่ได้

ดังนั้น ปี 2024 นี้ หนึ่งในอีเวนต์สำคัญคืองานโอลิมปิกที่กรุงปารีส งานครั้งนี้มีความพิเศษหลายอย่างเช่นการจัดงานที่กลางเมือง ลงไปพัฒนาในพื้นที่สำคัญและพื้นที่ชุมชน แทนที่จะไปเปิดพื้นที่เพื่อการแข่งขันและสาธารณูปโภคอื่นๆ โดยเฉพาะ หนึ่งในเป้าหมายที่ทะเยอทะยานที่สุดคือการใช้แม่น้ำแซน (Seine) เป็นพื้นที่การแข่งขัน คือนักกีฬาจะได้ลงว่ายในแม่น้ำแซนจริงๆ ซึ่งแม่น้ำแซนค่อนข้างสกปรกมาก เป็นเหมือนแม่น้ำสายหลักของเมืองโดยทั่วไปที่เสื่อมโทรมและมีคุณภาพที่ไม่ค่อยดีนัก

การทำความสะอาดแม่น้ำของปารีส จึงเป็นหนึ่งการพยายามปรับหน้าตาและคุณภาพของเมือง ทั้งเรื่องระบบนิเวศ และความสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัยกับพื้นที่ธรรมชาติ ประเด็นเรื่องพื้นที่ริมน้ำไปจนถึงตัวแม่น้ำเองที่เมืองจะฟื้นฟูจนกลับมาใสสะอาดจนผู้คนกลับไปใช้ได้เหมือนในช่วงเวลาก่อนยุคสมัยใหม่จึงเป็นอีกหนึ่งอุดมคติใหม่ของการพัฒนาเมือง ซึ่งปารีสเองไม่ใช่เมืองแรกที่มีการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองจนสะอาดในระดับลงว่ายได้ มีหลายเมืองทั้งในยุโรปและอเมริกา (ที่เป็นเมืองเล็กหน่อย) ก็มีการเรียกร้องและเดินหน้าอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่สีฟ้าของตัวเองจนผู้คนลงว่ายได้ บางเมืองการเปิดพื้นที่น้ำไม่ใช่แค่การคืนพื้นที่ธรรมชาติในฐานะพื้นที่สาธารณะ แต่การว่ายน้ำกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสัญจร คือลงว่ายไปไหนมาไหนกระทั่งว่ายน้ำไปทำงานจริงจัง

คอนเซปต์แม่น้ำแซน ปารีสโอลิมปิก 2024. ภาพจาก: Olympics
 

ว่ายน้ำไปทำงานกันจริงๆ

ประเด็นเรื่องการว่ายน้ำไปทำงาน ฟังดูเป็นส่วนหนึ่งของข่าวตลกๆ ที่เป็นเรื่องแปลกประหลาด เป็นไปได้ยาก อย่างแรกคือเรารู้ดีว่าพื้นที่น้ำของเมืองมักเป็นที่ที่สกปรกและปนเปื้อน ทว่ากระแสของหลายเมืองใหญ่คือการฟื้นฟูพื้นคุณภาพแม่น้ำลำคลอง และในกระแสนี้หลายเมืองมีเป้าหมายที่ทำให้แม่น้ำของตัวเองสะอาดและปลอดภัยจนสามารถลงว่ายได้อย่างสบาย

หนึ่งในข่าวที่ค่อนข้างดังคือข่าวจากเมืองมิวนิกในปี 2017 ชายหนุ่มชื่อ เบนจามิน เดวิด (Benjamin David) มีชื่อเสียงจากการลงว่ายน้ำจากบ้านไปที่ทำงานเป็นระยะทางสองกิโลเมตรในแม่น้ำอีซาร์ (Isar) ในเมือง จริงๆ คุณเดวิดเป็นระดับเจ้าของบริษัทที่ทำงานด้านพัฒนาเมืองและทำงานให้กับบริษัทสื่อเยอรมนี การตัดสินใจว่ายน้ำไปทำงานก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระแสความเปลี่ยนแปลง โดยเหตุผลของแกก็เรียบง่ายตรงที่ว่า ระยะทางนั้นเหมาะสม การว่ายน้ำไปทำงานสบายใจกว่าการนั่งรถหรือขับรถฝ่ารถติดไป

วิธีการไปทำงานของแกก็อย่างที่เราจินตนาการ มีการใส่ชุดที่เหมาะสมตามสภาพอากาศ (เช่นถ้าหนาวก็ใส่ wetsuit) ถึงเวลาก็เอาคอมฯ เสื้อผ้า รองเท้าใส่ถุงกันน้ำ มีการใช้ทุ่นลอยผูกติดไปกับตัว และลงว่ายไปตามแม่น้ำเพื่อไปทำงาน

ว่ายน้ำไปทำงานกันไหม? เพราะเมืองอื่นเริ่มทำคลองสะอาดจนคนอยากโดดลงน้ำ

เมืองที่ลงว่ายไปทำงานจริงๆ

ทีนี้สำหรับมิวนิก ในปี 2017 การลงว่ายในแม่น้ำไปทำงานอาจเป็นเรื่องแปลก เนื้อข่าวในยุคนั้นก็พูดถึงการที่คนแถวๆ นั้นยิ้มและหัวเราะไปกับพฤติกรรมการว่ายน้ำในเมือง ก่อนหน้านี้ถ้าย้อนกลับไปอีกในช่วงปี 2014 ในหลายพื้นที่ส่วนใหญ่อาจเป็นแม่น้ำหรือคลองในพื้นที่นอกเมือง พื้นที่หย่อนใจเช่นแม่น้ำชาลส์ (Charles) มีการอนุรักษ์และมีกลุ่มว่ายน้ำของแม่น้ำ ซึ่งช่วยกันฟื้นฟูจนตัวแม่น้ำกลับมาเปิดให้สาธารณชนลงว่ายเล่นได้ในช่วงหน้าร้อน แม่น้ำลอสแอนเจลิส (Los Angeles) เองมีการอนุรักษ์และรื้อขอบซีเมนต์และพัฒนากลับเป็นพื้นที่ธรรมชาติจนบางส่วนสะอาด ผู้คนสามารถพายเรือรวมถึงลงว่ายได้

กระแสทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั้งแม่น้ำชเปร (Spree) ของเบอร์ลินก็มีกลุ่มอนุรักษ์และกลายเป็นแคมเปญจนชวนผู้คนกลับมาว่ายน้ำเล่นในแม่น้ำได้อีกครั้ง เมืองเช่นนิวยอร์กก็มีโปรเจกต์ + POOL ที่ลงมือติดตั้งอุปกรณ์บำบัดทำความสะอาดน้ำ มีการชวนคนกลับไปลงว่ายน้ำในแม่น้ำของเมืองตั้งแต่ปี 2010 

ในระดับของเมืองใหญ่ ถ้าเป็นเรื่องการเปิดพื้นที่น้ำของตัวเองจนกลายเป็นกิจกรรมของเมืองต้องยกให้สวิสเซอร์แลนด์ สำหรับสวิสเซอร์แลนด์เองค่อนข้างมีกระแสการพาผู้คนกลับสู่แม่น้ำและการว่ายน้ำของเมืองมาหลายทศวรรษแล้ว หมุดหมายสำคัญหนึ่งคือการจัดนิทรรศการชื่อ Swim City ที่พิพิธภัณฑ์ ‘S AM Swiss Architecture Museum’ แกนสำคัญของนิทรรศการคือการบอกว่าแม่น้ำเป็นพื้นที่สาธารณะ และเรามีสิทธิที่จะเข้าถึงสิทธิที่เรามีต่อพื้นที่เมือง ต่อมาสวิสเซอร์แลนด์รับแนวคิดที่ว่าพื้นที่น้ำหรือ open waterways เป็นพื้นที่ที่ต้องเข้าถึงได้ เป็นพื้นที่สาธารณะสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน

นิทรรศการ Swim City ที่พิพิธภัณฑ์ S AM Swiss Architecture Museum. ภาพจาก: S AM Swiss Architecture Museum

ปัจจุบันแม่น้ำ คลอง หรือพื้นที่น้ำเปิดโล่งอื่นๆ ในสวิสเซอร์แลนด์ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเห็นผู้คนไปลงแช่เล่น กระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในชีวิตประจำวัน การว่ายน้ำในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในฤดูร้อนกลายเป็นอีกกิจกรรมที่ทำได้และเป็นอีกความสนุกในการท่องเที่ยวหรือการรับรู้เมืองในมุมใหม่ๆ

อย่างไรก็ตามการเปิดแม่น้ำให้ผู้คนลงว่ายได้มีหลายเงื่อนไข ปัจจัยสองข้อที่สำคัญซึ่งเกี่ยวกับความปลอดภัยทั้งคู่ อย่างแรกที่สำคัญที่สุดคือความสะอาดของน้ำที่เพียงพอ หลายเมืองมีการพัฒนาการวัดคุณภาพน้ำไปจนถึงมีระบบแจ้งว่าตอนนี้คุณภาพน้ำสะอาดเพียงพอไหม อีกด้านคือความปลอดภัยในภาพรวม การมีเกณฑ์เพื่อความปลอดภัยเช่นความแรงของน้ำไปจนถึงมาตรวัดอื่นๆ จึงเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไข สำหรับสวิสเซอร์แลนด์เองมีโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องเช่นการฝึกให้ประชาชนมีทักษะของการช่วยชีวิต เป็นไลฟ์การ์ดที่ช่วยเป็นหูเป็นตา 

การกลับมาของแม่น้ำสะอาดและผู้คนที่ลงว่าย รวมถึงเอาแม่น้ำกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตสัมพันธ์กับหลายแง่มุมที่เราคิดต่อเมือง ตั้งแต่กระแสเรื่องการคืนธรรมชาติให้เมือง ย้อนคืนผลของการพัฒนาที่มักมีถนนและรถยนต์ พื้นที่อุตสาหกรรมและคมนาคมที่ทำลายการเข้าถึงและทำลายแม่น้ำ การมีกิจกรรมในเมืองใหม่ๆ ไปจนถึงล่าสุดคือกระแสคลื่นความร้อนและเมืองร้อน ทำให้เมืองสำคัญๆ กลับมาเปิดแม่น้ำลำคลอง กระทั่งใช้การกลับมาของแม่น้ำและระบบนิเวศเป็นความภูมิใจใหม่ๆ ของเมือง นอกจากนี้ประเด็นเรื่องการเข้าถึงแม่น้ำและพื้นที่น้ำยังเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติด้วย หลายเมืองน้ำและพื้นที่ริมน้ำเป็นพื้นที่และกิจกรรมหรูหรา เข้าถึงได้แค่คนบางกลุ่ม

ในแง่นี้การกลับไปสู่แม่น้ำของผู้คนอาจสัมพันธ์กับทักษะใหม่ๆ เช่นทักษะในการว่ายน้ำ การประเมินเรื่องความปลอดภัย ไปจนถึงสาธารณูปโภคของเมืองที่อาจปรับเปลี่ยนไปตามกิจกรรมและการใช้พื้นที่เมืองใหม่ๆ นี้ เช่นเราอาจเห็นการพัฒนาที่สัมพันธ์กับธรรมชาติมากขึ้น การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ การมีสาธารณูปโภคด้านความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เราอาจมีอาคารหน้าตาใหม่ๆ ที่เปิดให้พื้นที่แม่น้ำลำคลองกลายเป็นสวนสนุกหรือสระว่ายน้ำซึ่งลงมือทำกันจริงๆ แล้ว มีสวนหน้าตาใหม่ๆ ที่เชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่สีฟ้า มีพื้นที่สาธารณะที่ชวนเราแช่น้ำหรือทำกิจกรรมสนุกๆ กลางแสงแดด

ภาพจาก: S AM Swiss Architecture Museum

ความสัมพันธ์ของเรากับเมือง ชีวิตประจำวันในเมืองอาจไม่ได้มีแค่การนั่งจ่อมอยู่ในรถ การเดินอย่างเงียบๆ เรียบร้อยในป่าสีเทา ด้วยพลังของน้ำและสายน้ำ เราอาจเห็นเมืองในมุมใหม่ๆ เห็นชีวิตในเมืองที่เย็นฉ่ำ สนุกสนานและเต็มไปด้วยกิจกรรมที่เต็มไปด้วยสีสันและการขยับเขยื้อนร่างกาย แน่นอนว่าสำหรับบ้านเรารวมถึงเมืองส่วนใหญ่ทั่วโลก การฟื้นฟูแม่น้ำจนลงว่ายได้ยังนับเป็นอีกความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ และเป็นภาพชีวิตเมืองที่น่าจะเปลี่ยนมุมมองและชีวิตคนเมืองแบบเราๆ อย่างยิ่งทางหนึ่ง

 


ข้อมูลอ้างอิง

 

 

logoline