svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดแผลโครงการ “แจกเงินหมื่นดิจิทัล” ส่อเสี่ยงจุดจบรัฐบาล?

16 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กางกฎหมาย เปิดแผลโครงการ “แจกเงินหมื่นดิจิทัล” จุดจบ “รัฐบาลเศรษฐา” ? “โครงการไม่ตรงปก-กู้เงินจากธกส.มาใช้“

“โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งล่าสุด "นายกฯเศรษฐา" ประกาศแผนออกมาอย่างชัดเจนลุยเดินหน้าต่อ และจะเริ่มใช้ในช่วงปลายปีนี้ แต่หากกางกฎหมาย จะพบว่ายังมีช่องโหว่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายอย่างน้อย 3 ประเด็น เริ่มจาก 

1.โครงการไม่ตรงปก ไม่ตรงกับที่หาเสียงเอาไว้ โดยเฉพาะ 3 เงื่อนไขสำคัญ คือ 

  • แจกทันที
  • แจกคนไทยที่อายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน 
  • ไม่กู้มาแจก 

ปรากฏว่าเมื่อดำเนินโครงการจริง ทำไม่ได้ทันที แต่ล่าช้ากว่า 1 ปี  พร้อมกับมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการแจก คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ไม่ใช่ได้รับทุกคน และสุดท้ายคือ กู้มาแจก อย่างน้อยๆ ก็กู้ ธ.ก.ส. 

โดยประเด็นนี้ต้องระวังมี “นักร้อง” ไปยื่นให้ กกต. หรือองค์กรอิสระตรวจสอบว่าเป็นการหาเสียงหลอกลวง สัญญาว่าจะให้หรือไม่ เพราะสุดท้ายทำไม่ได้จริงตามที่หาเสียงเอาไว้ 

 

2.การกู้ ธ.ก.ส.มาแจกเกษตรกรคนละ 10,000 บาท อาจมีปัญหา

  • ตัวเลขเกษตรกรที่แท้จริงไม่ใช่ 17 ล้านคนตามที่รัฐบาลประกาศ แต่มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนจริงว่าประกอบอาชีพเกษตรกรรม 8-9 ล้านคนเท่านั้น หากนำเงิน ธ.ก.ส.ไปแจก 17 ล้านคน ย่อมเท่ากับแจกคนที่ไม่ใช่เกษตรกรด้วย ผิดวัตถุประสงค์ของธนาคาร 
  • การกู้ ธ.ก.ส. เข้าข่ายมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐฯ

โดยมาตรา 28  บัญญัติว่า “การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ (ในที่นี้หมายถึง ธ.ก.ส.) ดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการนั้น ให้กระทำได้เฉพาะกรณี….

1.อยู่ในหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย

2.อยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น 

3.เพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม

ดังนั้นนอกจากการดึงเงิน ธ.ก.ส.มาแจก จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของธนาคารและยังต้องมีเป้าหมายสอดคล้องกับอีกหลายเงื่อนไขตามกฎหมาย ซึ่งต้องลุ้นตีความว่าจะเข้าข่ายหรือไม่ 

โดยวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. บัญญัติอยู่ในมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 

(1) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรสำหรับการ

(ก) ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม

(ข) ประกอบอาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้

(ค) พัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร

(ง) ดำเนินกิจการตามโครงการที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรมซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร

(2) ประกอบธุรกิจอื่นอันเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม

(3) ดำเนินงานเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือการบริหารจัดการแก่บุคคล กลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการ กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน รวมทั้งองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบใดที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรหรือชุมชน  ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรหรือชุมชนให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการลงทุน การผลิต การแปรรูป และการตลาด หรือเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจหรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

(4) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์ เพื่อใช้ดำเนินงานภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์

กฎหมาย ธ.ก.ส. มาตรา 10 ยังกำหนดให้ธนาคารมีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบเขตของวัตถุประสงค์ตามมาตรา 9 อีก 17 อย่าง แต่ไม่มีการระบุไว้เรื่องการให้รัฐบาลกู้เงิน แล้วนำเงินไปแจกคนละ 10,000 บาทเป็นการทั่วไป หรือแจกเกษตรกรให้นำไปซื้อสินค้าอะไรก็ได้ ตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

2.3 ประธานคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ตามกฎหมาย มาตรา 14 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน 

ปัญหาคือ นายกฯเศรษฐา นั่งควบตำแหน่ง รมว.คลังด้วย ดังนั้นจะเป็นผู้นั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ดธนาคาร 

สมมติหากมีวาระที่บอร์ดจะต้องอนุมัติให้รัฐบาลกู้เงิน นำไปแจกในโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” นายกฯเศรษฐาเป็นประธานในที่ประชุม ในฐานะรมว.คลัง ที่ต้องคำนึงถึงและรักษาผลประโยชน์ของธนาคาร หรือจะเป็นประธานในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่มีวาระหาเสียงเรื่อง “แจกเงิน 10,000 บาท” การตัดสินใจจะกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ 

แต่ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นหากมีการปรับ ครม.ตามข่าว นั่นก็คือ "นายกฯเศรษฐา" เปลี่ยนไปควบตำแหน่งรมว.กลาโหม แทน

3.การดึงงบเหลือจ่ายจากงบประมาณปี 2567 มาใช้กว่า 1.7 แสนล้านบาท เนื่องจากคาดการณ์ว่าหน่วยงานต่างๆ จะใช้จ่ายงบไม่ทัน เพราะมีเวลาของปีงบประมาณเหลือเพียง 5 เดือน แม้จะนำงบเหล่านั้นไปแปะไว้ที่ “งบกลาง” แต่การนำงบเหลือจ่ายไปใช้ ต้องออก “กฎหมายว่าด้วยการโอนงบประมาณ” ด้วยหรือไม่ เพราะหากนำไปใช้ใน "โครงการดิจิทัลวอลเล็ต" จะถูกตั้งคำถามเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งเป็นเงื่อนไขการใช้จ่ายงบกลาง 

แต่หากเป็นการโอนไปเพื่อภารกิจใน "โครงการดิจิทัลวอลเล็ต" ก็ไม่มีการตั้งงบรายการนี้ไว้ แล้วจะโอนไปโดยพลการได้อย่างไร 

logoline